“โรคฝีดาษลิง” ไม่ใช่โรคใหม่ แต่เคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปี ‘วราวุธ’ สั่งเข้มเฝ้าระวังและเตือนประชาชนอย่าเข้าใกล้สัตว์ป่า

‘วราวุธ’ สั่งเข้มเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง ระบุ ลิงในประเทศยังไม่ติดเชื้อ เตือนประชาชนอย่าเข้าใกล้สัตว์ป่า

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการรับมือโรคฝีดาษลิง ว่า ได้ให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เร่งตรวจสอบ ทั้งสนามบินและท่าเรือว่ามีการลักลอบนำเอาสัตว์ป่าเข้ามาหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีการทำหมันลิงอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้ได้ให้ตรวจสอบสุขภาพของลิงด้วย

ปัจจุบันยังไม่พบว่ามีการติดเชื้อโรคฝีดาษลิงในประเทศไทย ทั้งนี้ต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดเรื่องของการนำสัตว์ข้ามแดนเข้ามา เพราะหากมีการนำสัตว์ป่าเข้ามาก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของโรคฝีดาษลิงได้ พร้อมฝากประชาชนอย่ากระทำผิดกฎหมายเรื่องของการนำสัตว์ข้ามแดนเข้ามา เพราะอาจจะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่อันตรายอย่างยิ่งในประเทศ พร้อมกำชับให้ดูแลตามแนวชายแดน ทั้งทางบกและทางน้ำให้มีการเฝ้าระวังอย่างเต็มที่

ส่วนลิงที่จังหวัดลพบุรี จากการตรวจสอบยังไม่พบมีการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง แต่ทั้งนี้ขอให้ประชาชนอย่าเข้าใกล้สัตว์ป่ามากจนเกินไป เพราะไม่ทราบว่าสัตว์ไปติดเชื้ออะไรมาบ้าง ซึ่งเมื่อเชื้ออยู่ในสัตว์อาจจะไม่มีผลกระทบอะไร แต่เมื่อเชื้อถ่ายทอดมาสู่คนแล้ว ก็จะมีผลกระทบตามมา เช่นเดียวกับลิงที่อาศัยอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ โดยทางกระทรวงไม่ได้อนุญาตให้มีการขนถ่ายสัตว์ป่าข้ามแดนอยู่แล้ว แต่โดยธรรมชาติของสัตว์อาจจะมีการข้ามเขตกันเองได้

… สาระน่ารู้ …
“โรคฝีดาษลิง” ไม่ใช่โรคใหม่ แต่เคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปี โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดฝีดาษในคนหรือไข้ทรพิษ (variola virus) ไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนป้องกันฝีดาษในคน (vaccinia virus) และฝีดาษวัว (cowpox virus) เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้

คนสามารถติดโรคจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย การแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ เมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน อาจนานถึง 21 วัน โดยอาการเริ่มแรกจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยจะประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ โดยอาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งในประเทศแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 10

การป้องกันตนเอง
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
2. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
3. หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า
4. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค
5. กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% โดยก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษได้นั้นมีการฉีดวัคซีนหรือที่เรียกกันว่าการปลูกฝี ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งสองโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตาม เด็กที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ข้อมูล: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ และ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข