กำหนดการจัดระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ถึง 30 เมษายน 2567 ณ จังหวัดเชียงราย มีศิลปินไทยและศิลปินต่างประเทศร่วมสร้างสรรค์ผลงานในพื้นที่จังหวัดเชียงรายหลายอำเภอกว่า 6o ชีวิต โดยมีทั้งศิลปินระดับโลกที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง ซึ่งทีมภัณฑารักษ์เชิญศิลปินเข้าร่วมโครงการโดยคำนึงถึงความหลากหลายของรูปแบบผลงานและเนื้อหา ทั้งยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการค้นคว้าประวัติศาสตร์และบริบทของเมืองในแง่มุมต่างๆ เพื่อส่งต่อข้อมูลเหล่านี้ให้กับบรรดาศิลปิน รวมถึงมีการพาศิลปินหลายคนลงพื้นที่สำรวจประเด็นน่าสนใจ เพื่อจุดประกายไอเดียให้เกิดแรงบันดาลใจในการสะท้อนความเป็นเมืองพหุวัฒนธรรมของเชียงรายผ่านผลงานศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์และสื่อความหมาย
ในโอกาสที่สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวแนวคิด The Open World หรือ เปิดโลก ในวันที่ 25 มีนาคม 2566 ณ วัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย เราจึงขอแนะนำศิลปิน 20 รายชื่อแรกที่ตอบรับเข้าร่วม Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 โดยมีตัวแทนศิลปินเข้าร่วมงานแถลงข่าว ดังต่อไปนี้
รชพร ชูช่วย ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม all(zone) กลุ่มนักออกแบบมืออาชีพที่มีความสุขกับการได้ร่วมทำงานกับผู้เชี่ยวชาญโดยไม่จำกัดพรมแดนหรือสัญชาติ ผลงานชิ้นสำคัญของ all(zone) คือการสร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยมที่เชียงใหม่
จิระเดช มีมาลัย, พรพิลัย มีมาลัย และกฤตพร มหาวีระรัตน์ ตัวแทนจากกลุ่มบ้านนอก ความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม องค์กรไม่แสวงผลกำไรขับเคลื่อนและริเริ่มโดยศิลปิน เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างศิลปิน ภัณฑารักษ์ นักวิจัยกับชุมชน และสนับสนุนให้เกิดชุมชนศิลปะภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น
บู๊ซือ อาจอ จิตรกรที่เรียนรู้ด้วยตนเอง เกิดในพื้นที่ภูเขาอันห่างไกลของเมียนมาร์ เธอและครอบครัวถูกบังคับให้ต้องหลบหนีตั้งแต่ยังเด็กจากการรุกรานของทหาร เธอสร้างสรรค์ผลงานที่ดึงเอาประสบการณ์จากชีวิตประจำวันในฐานะผู้หญิงในโลกร่วมสมัย รวมถึงรากเหง้าในฐานะสมาชิกชนเผ่าอาข่า
เอิร์นเนสโต เนโต (Ernesto Neto) ศิลปินชาวบราซิลจากเมืองรีโอเดจาเนโร เขาผลิตผลงานที่มีอิทธิพลจากการสำรวจ การสร้างพื้นที่ทางสังคมและโลกธรรมชาติ โดยเชิญชวนให้ผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพและประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสร่วมกับผลงาน
แฮกู ยาง (Haegue Yang) ศิลปินชาวเกาหลี ปัจจุบันพำนักและทำงานในเบอร์ลิน เธอมักนำวัตถุที่หาได้ทั่วไปและวัสดุเหลือใช้ในบ้าน มาทำการแยกวัสดุเหล่านั้นออกจากบริบทดั้งเดิมและจัดเรียงใหม่เป็นองค์ประกอบเชิงนามธรรมที่สร้างจากคำศัพท์และภาษาภาพที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นส่วนตัว
กมลลักษณ์ สุขชัย ศิลปินภาพถ่ายที่มักจะสร้างสรรค์งานศิลปะ ด้วยการสํารวจคติชนวิทยาในพื้นที่อุษาคเนย์ที่ส่งผลต่อประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ ความเชื่อทางศาสนา และมายาคติทางเพศ ผ่านโครงสร้างของเรื่องเล่า เช่น นิทาน ตํานาน พงศาวดาร และมุขปาฐะ
รุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์ และดาราวรรณ มาฉันท์ จากกลุ่ม 101 เฮือนโบราณล้านนา กลุ่มศิลปินและสถาปนิกชาวล้านนาที่ทำการสำรวจบ้านเก่าของคนไตเขิน ไตลื้อ ยอง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงทำการสืบค้น วิจัย และสัมภาษณ์เจ้าของบ้านไม้พื้นเมืองที่เริ่มสูญหายไปในช่วงโลกาภิวัตน์อย่างต่อเนื่อง บางครั้งก็ซ่อมแซมบ้านที่เริ่มเสียหายไปตามกาลเวลา
สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ผู้ก่อตั้ง Sanitas Studio ผลงานเธอมีทั้งประติมากรรม งานศิลปะแบบจัดวาง และงานด้านภูมิสถาปัตยกรรม
โทเบียส เรห์แบร์เกอร์ (Tobias Rehberger) ศิลปินชาวเยอรมัน ศาสตราจารย์ด้านวิจิตรศิลป์ที่ Frankfurt Städelschule ปัจจุบันพำนักและทำงานในแฟรงก์เฟิร์ต เขาประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์งานเชิงสุนทรียะแบบข้ามแขนงอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งครอบคลุมทั้งภาพ วัตถุ งานจัดวาง และการทำงานร่วมกัน
นอกจาก 9 ศิลปินทั้งเดี่ยวและตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ที่เข้าร่วมงานแถลงงานข่าวแล้ว ศิลปินชาวไทยและต่างประเทศคนอื่นๆ ก็มีประวัติส่วนตัวและผลงานน่าสนใจไม่แพ้กัน ขอเชิญมาทำความรู้จักกับพวกเขาทั้ง 20 ศิลปินกันได้เลย
#tbc2023 #thailandbiennalechiangrai #thailandbiennalechiangrai2023 #เชียงรายเมืองศิลปะ #ไทยแลนด์เบียนนาเล่ #สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย