วันที่ 29 พ.ค. 66 ที่ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) อ.แม่สาย จ.เชียงราย นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการสำรวจและบริหารจัดการถ้ำในเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวงฯ โดยมีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อํานวยการสํานักอุทยานแห่งชาติ นายชุติเดช กมนณชนุตม ผู้อํานวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) Mr.Vernon Unsworth ผู้เชี่ยวชาญการสำรวจถ้ำ พร้อมผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมโดยมีการกำหนดการบริหารจัดการถ้ำหลวงครั้งให่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว การศึกษาวิจัย และการจัดงานรำลึกครบรอบ 5 ปีเหตุการณ์ช่วยเหลือเยาวชนทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีที่ประสบเหตุติดอยู่ในถ้ำหลวง ระหว่างวันที่ 23 มิ.ย.-10 ก.ค.ปี 2561
นายอรรถพล กล่าวว่าปัจจุบันถ้ำหลวงได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก อย่างไรก็ตามพบว่าพื้นที่มีข้อจำกัดโดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติประเภทถ้ำมีระบบนิเวศที่ค่อนข้างเปราะบางและมีความยากลำบากในการเข้าชม ดังนั้นที่ผ่านมาจึงได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมด้วยตัวเองเฉพาะโถงถ้ำที่ 1 และกำหนดระยะความลึกประมาณ 150 เมตร ซึ่งจุดนี้ในอดีตเคยเป็นโถงบัญชาการในเหตุการณ์ช่วยเหลือเยาวชนทีมหมูป่าฯ ทั้งนี้จากการศึกษาขีดความสามารถของโถงถ้ำแล้วได้กำหนดจำวนคนให้เข้าชมได้รอบละไม่เกิน 25 คน รอบละ 30 นาที หรือเฉลี่ยวันละ 16 รอบ หรือรองรับนักท่องเที่ยวได้วันละประมาณ 400 คน
นายอรรถพล กล่าวอีกว่านอกจากนี้กรณีของโถงถ้ำที่ 2 นั้น จะมีการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้แต่ต้องอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่และกำหนดให้เข้าไปได้วันละเพียง 4 กลุ่มๆ ละไม่เกิน 15 คน แต่ละกลุ่มเข้าไปอยู่ในถ้ำได้ไม่ละ 2 ชั่วโมง เมื่อคำนวณแล้วจะทำให้นักท่องเที่ยวสามารถไปถึงโถงถ้ำที่ 2 ได้วันละประมาณ 60 คน กระนั้นผู้ประสงค์จะเข้าไปให้ถึงโถงถ้ำที่ 2 จะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังอนุญาตให้เข้าไปถึงโถงถ้ำที่ 3 กรณีเป็นนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผู้มีความรู้พื้นฐาน ฯลฯ ที่จะเข้าไปสำรวจทางวิชาการโดยต้องทำหนังสือขอนุญาตไปยังกรมอุทยานแห่งชาติฯ ล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน ซึ่งกรณีทั้งหมดนี้จะการประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้งต่อไป
ด้านนายชัยวัฒน์ ได้เสนอในที่ประชุมให้มีการศึกษาภายในถ้ำหลวงอย่างละเอียดโดยหากพบว่ามีตะกอนที่เกิดจากพัฒนาการของถ้ำหรือตามธรรมชาติก็ปล่อยเอาไว้ แต่หากพบมีตะกอน ดินเหนียว ทราย ฯลฯ ที่เรานำเข้าไปในช่วงเหตุการณ์กู้ภัยปี 2561 หรือไหลมาจากด้านบนถ้ำแล้วอาจเปลี่ยนแปลงทางน้ำเดิมจะมีการนำเอาออกมาด้วย โดยทางสำนักอุทยานแห่งชาติจะรับหน้าที่ในการศึกษาเรื่องนี้ด้วยการว่าจ้าง Mr.Vernon Unsworth ให้เป็นที่ปรึกษาและสร้างทีมงานเพื่อดำเนินการอย่างเป็นทางการต่อไป
นอกจากนี้ที่ประชุมได้เตรียมจัดงาน “รำลึก 5 ปี กู้ภัยถ้ำหลวง”
วันที่ 10 ก.ค.2566 นี้
– โดยช่วงเช้าจะมีการทำบุญตักบาตร
– บวงสรวงเจ้าแม่นางนอน
– กิจกรรมรำลึกถึงนาวาตรีสมาน กุนัน หรือจ่าแซม ผู้เสียสละชีวิตในเหตุการณ์ และนายดวงเพชร พรหมเทพ หรือน้องดอม หนึ่งในสมาชิกทีมหมูป่าฯ ที่เสียชีวิตขณะไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ
– การเสวนาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวงฯ หลังเหตุการณ์กู้ภัย ฯลฯ
– นิทรรศการถ้ำหลวง ตั้งแต่วันที่ 10-15 ก.ค.นี้ ฯลฯ
ทั้งนี้ถ้ำหลวงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องหลังเหตุการณ์ในปี 2561 และเปิดให้นักท่องเที่ยวชมอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.2565 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตามยังคงอนุญาตให้เข้าชมได้เฉพาะโถงถ้ำที่ 1 เท่านั้นส่วนการเข้าชมโถงที่ 2-3 ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง.
ภาพ/ข่าว สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย 19 พ.ค. 2566