“สับปะรดนางแล จุดประกายสู่ Art Village” .. กะปิ ปีย์ญานันท์

กิจกรรม workshop “สร้างสรรค์ศิลปะสตรีทอาร์ต” ณ ชุมชนป่าซางวิวัฒน์ หมู่บ้านสับปะรดนางแลเชียงราย

#ร่วมสมัยนำมาเล่า “เชียงราย”

“สับปะรดนางแล จุดประกายสู่ Art Village”

วันนี้แอดมินเก็บตกภาพบรรยากาศกิจกรรม workshop “สร้างสรรค์ศิลปะสตรีทอาร์ต” ณ ชุมชนป่าซางวิวัฒน์ หมู่บ้านสับปะรดนางแลเชียงรายมาฝาก โดยกะปิ ปีย์ญานันท์ รัตนจันทร์ ศิลปินอิสระชาวเชียงราย ซึ่งร่วมกับเยาวชน นักเรียนนักศึกษาและชุมชนป่าซางวิวัฒน์สร้างสรรค์ผลงาน เพื่อเป็นแลนด์มาร์คในด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้กับชุมชน พร้อมด้วยเรื่องเล่าน่ารู้ในการนำศิลปะสร้างสรรค์วัตถุดิบสับปะรดนางแล พัฒนาสู่แบรนด์เครื่องเขียนและสีจากวัสดุธรรมชาติ และยังต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย

กะปิ ปีย์ญานันท์ รัตนจันทร์ ศิลปินอิสระชาวเชียงราย

“กะปิ” ปีย์ญานันท์ รัตนจันทร์ กล่าวว่า ในช่วงที่โควิดแพร่ระบาด กะปิ พึ่งเรียนจบปริญญาโท คณะวิจิตรศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วงที่เรียนปริญญาโท กะปิ เรียนและทำงานกราฟิกดีไซน์ควบคู่ไปด้วย รวมถึงนำผลงานไปออกบูธตามอีเวนท์งานดีไซน์ ทั้งในและต่างประเทศ ช่วงโควิดซึ่งได้มีการล็อคดาวน์ ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวมาไทยมาซื้อผลงาน จึงตัดสินใจกลับมาตั้งหลักที่บ้านเกิดในจังหวัดเชียงราย เนื่องจากโควิดที่ทำอะไรไม่ได้มากนัก ระหว่างที่กลับมาอยู่เชียงรายก็ได้เจอหนังสือบ้านศิลปินเชียงราย และตัดสินใจเข้าไปที่ดาษดา สตูดิโอ เมื่อได้สนทนาและเปลี่ยนความคิดกับคุณพุทธรักษ์ ดาษดา ก็เกิดแรงบันดาลใจในการกลับมาทำงานศิลปะที่บ้านเกิด และได้รับการเชิญชวนจาก พุทธรักษ์ ดาษดา ให้มาร่วมแสดงงานกับกลุ่มศิลปินแม่ญิง Maeying Artists Collective นอกจากนี้ยังได้ต่อยอดพัฒนางานศิลปะหลังจากทำ Thesis ปริญญาโทเสร็จ และพัฒนาจนมาเป็นงานที่ต่อยอดสู่โปรเจกต์ศิลปะเพื่อชุมชนส่งเสริมการท่องเที่ยว ยกระดับให้ชุมชนมีความเข็มแข็งและนำรายได้สู่ชุมชนได้ในอนาคต

อันเป็นที่มาของแบรนด์ Himlya Cotton เครื่องเขียน กระดาษและสีธรรมชาติทำมือ ซึ่งผลิตจาก สับปะรดพันธุ์นางแล วัตถุดิบที่มาจากเชียงราย พึ่งเริ่มเปิดตัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา Himlya มาจากคำว่า ฮิม (ต้นหญ้า) รวมกับหิมาลัย (เทือกเขาสูงที่สุด) ส่วน Cotton หมายถึง เส้นใยจากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งงานศิลปะจากเส้นในธรรมชาติเป็นผลงานที่ต่อยอดจากการทำวิทยานิพนธ์ (Thesis) และผลงานศิลปะนิพนธ์ของกะปิได้ร่วมแสดงในนิทรรศการ Transfiguration 2021/22 Biennial International Paper Fibre Art ที่ประเทศไต้หวัน และงาน ‘ Feasts on Paper ‘ Shanghai International Paper Art Biennale ที่ประเทศจีน จัดแสดงในช่วงโควิดที่ผ่านมา

โดยในช่วงโควิด กะปิต้องการใช้เส้นใยจากเยื่อปอสา เพื่อทำงานศิลปะ แต่ขณะนั้นวัตถุดิบขาดแคลนและมีอุปสรรคด้านการขนส่ง เพราะต้องสั่งซื้อจากเชียงใหม่ จึงตัดสินใจมองหาวัตถุดิบในท้องถิ่นของตนเอง และพบว่าหมู่บ้านป่าซางวิวัฒน์ ก็มีการทำกระดาษจากเส้นใยสับปะรด เมื่อได้เดินทางเข้าไปในชุมชนและค้นพบว่า ชุมชนนี้มีสับปะรดที่เคยมีชื่อเสียงและเคยเป็นพืชเศรษฐกิจของเชียงรายมาก่อน แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นผลไม้ที่ไม่เป็นที่รู้จักไปซะแล้ว

กะปิต้องการส่งเสริมให้สับปะรดที่เคยเป็นของดีของเชียงรายได้กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง เลยคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบจากสับปะรดนางแล หนึ่งในนั้นก็มีผลิตภัณฑ์สีธรรมชาติจากสับปะรด โดยทำแทบทุกส่วน ทั้ง ใบ เปลือก กากและน้ำของสับปะรด มาจำแนกสีได้ทั้งหมด 12 เฉด ได้แก่ สีเขียว เขียวเข้ม เขียวอ่อน มาจากใบ สีเหลือง มาจากน้ำและผลของสับปะรด สีน้ำตาล มาจากเปลือก เป็นต้น

ในปีที่ 2565 กะปิ ได้เข้าร่วมโครงการ Roots Incubation Program # 2 ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ ที่มีใจอยากกลับไปพัฒนาบ้านเกิด กะปิ เสนอโครงการท่องเที่ยวเชิงสับปะรด และได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 15 ทีม ที่เข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้หลักสูตรผู้ประกอบการชุมชนยุคใหม่ เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ด้วยเครื่องมือทางธุรกิจที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม

หลังเสร็จสิ้นโครงการ กะปิ ได้ทราบข่าวการรับสมัครโครงการเงินอุดหนุนการพัฒนาและส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ผ่านทางเพจสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จึงได้เขียนนำเสนอโครงการส่งเข้าไปฯ และได้รับการพิจารณาเงินอุดหนุนฯ ในการขับเคลื่อนกิจกรรม workshop “ สร้างสรรค์ศิลปะสตรีทอาร์ต” ณ ชุมชนป่าซางวิวัฒน์ หมู่บ้านสับปะรดนางแล ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 -12 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา โดยมีประชาชนจิตอาสาและเยาวชนจากสถานศึกษาต่างๆ ทั้งในระดับประถมศึกษาจนถึงมหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงรายเข้าร่วมกิจกรรม พร้อมทั้งมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จำนวนกว่า 100 คน เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมและสร้างความตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรในชุมชนอันเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถนำมาต่อยอดและพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าให้แก่ชุมชนได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

โดยหลังจากนี้ กะปิ จะหารือกับทางชุมชนป่าซางวิวัฒน์และเทศบาลตำบลนางแล ถึงแนวทางการพัฒนาชุมชนให้เป็น Art Village เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อไป โดยเริ่มจากแลนด์มาร์ค ภายในหมู่บ้าน ที่ประกอบด้วยร้านค้า ร้านอาหารชุมชน และกลุ่มอาชีพ พร้อมทั้งเชิญชวนศิลปินในจังหวัดเชียงรายมาร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะอันโดดเด่นในคอนเซ็ปต์ต่างๆ ตามบ้านเรือนและจุดส่งเสริมการเรียนรู้ภูมิปัญญาจากสับปะรดนางแล เช่น กลุ่มทำกระดาษใยสับปะรด และภูมิปัญญาอาหารที่ใช้สับปะรดนางแลของชุมชนเป็นวัตถุดิบ เช่น เมนูน้ำสับปะรด ตำสับปะรด ยำสับปะรด แกงฮังเลสับปะรด เป็นต้น

“หนูเชื่อว่า การมีพื้นที่ให้ศิลปิน คนเรียนศิลปะ หรือแม้แต่คนที่ไม่ได้เรียนศิลปะ ได้เรียนรู้และได้แสวงหาแรงบันดาลใจ ซึ่งหวังว่าจะมีพื้นที่หนึ่งที่สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ในแนวทางที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูพื้นที่ให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้นด้วย หนูมองว่า สับปะรดพันธุ์นางแล พันธุ์ดั้งเดิมของดีประจำจังหวัดเชียงราย ที่เข้าใกล้คำว่าจะสูญพันธุ์ ควรได้รับเกียรติในการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มจากทุนทางธรรมชาติที่มีอยู่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป”

ผู้สนใจสามารถติดตามผลงานและกิจกรรมได้ทาง IG Himlya Cotton

ข้อมูล/ภาพ : เพจ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย https://www.facebook.com/OfficeOfContemporaryArtAndCulture

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
CCAM SUNDAY ART MARKET เริ่ม 10 พ.ย.นี้ ที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยเมืองเชียงราย
เทศบาลนครเชียงราย จัดงานตลาดประชารัฐของดีนครเชียงราย “ม่วนจอย เดินจิม ผลไม้ถิ่น สับปะรดลิ้นจี่เจียงฮาย” 2567
ชวนเที่ยวงาน “ม่วนจอย เดินจิม ผลไม้ถิ่น สับปะรดลิ้นจี่เจียงฮาย” | 22-26 พ.ค.นี้
ชวนผู้ประกอบการร่วมออกบูธจำหน่ายสินค้าในงาน “ม่วนจอย เดินจิม ผลไม้ถิ่น สับปะรดลิ้นจี่เจียงฮาย” บูธฟรี! รับจำนวนจำกัด
รมว.กระทรวงวัฒนธรรม ส่งมอบธงสัญลักษณ์ให้ จ.ภูเก็ต เจ้าภาพจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ “Thailand Biennale 2025” พร้อมฉลองความสำเร็จของ “Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 สร้างรายได้กว่า 24,000 ล้านบาท
27 เม.ย.นี้ (18.45 น.) ร่วมเฉลิมฉลองความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในพิธีมอบธงสัญลักษณ์มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ THAILAND BIENNALE