“โรคไข้เลือดออก” อันตรายในหน้าฝน กำจัดยุงลายตั้งแต่เริ่มต้นโดยปฏิบัติ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค

กำจัดยุงลายตั้งแต่เริ่มต้น หยุดโรคไข้เลือดออก 3 เก็บป้องกัน 3 โรค โรคฤดูฝน

กรมควบคุมโรค เตือน!! ระวังโรคไข้เลือดออกในฤดูฝน แนะประชาชนป้องกันตนเอง พร้อมปฏิบัติตามหลัก ” 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค “ หากมีไข้สูงลอย ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร ใบหน้าหรือผิวหนังมีจุดแดง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรซื้อยากินเอง

โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ พบโดยมากในฤดูฝน โดยแหล่งวางไข่ยุงลาย สามารถเกิดขึ้นได้จากภาชนะที่มีน้ำขัง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือจากสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น หากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้ยุงลายมาวางไข่ได้

โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค

เช่น โอ่งน้ำ ยางรถยนต์เก่า กระถางต้นไม้ น้ำสำหรับสัตว์เลี้ยง แจกัน เศษขยะ เป็นต้น กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อย่างดีของลูกน้ำยุงลาย ทำให้ยุงลายแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว และเพิ่มจำนวนมากขึ้น เมื่อยุงลายเพิ่มมากขึ้น การระบาดของโรคที่มียุงลายเป็นพาหะโดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกก็มีโอกาสพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

อาการของโรคไข้เลือดออก และกลุ่มเสี่ยง

ปัจจุบันโรคไข้เลือดออกยังไม่มียารักษา ต้องรักษาตามอาการ การป้องกันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันในการดำเนินมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค ได้แก่

1. เก็บบ้านให้โล่ง อากาศปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก

2. เก็บขยะ เศษภาชนะต่างๆไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และ

3. เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด เช่น โอ่ง ไห ขวด ถัง เป็นต้น ไม่ให้ยุงลายวางไข่ โดยต้องทำอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน

เพื่อป้องกัน 3 โรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ได้แก่

  • โรคไข้เลือดออก
  • โรคติดเชื้อไวรัสซิกา
  • โรคไข้ปวดข้อยุงลาย

ข้อมูล :  
– กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค
https://ddc.moph.go.th/odpc7/news.php?news=26116
– กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
https://www.facebook.com/profile.php?id=100068069971811