2 ก.ย.66 | ขอเชิญร่วมสืบสานงานประเพณีไทลื้อบ้านศรีดอนชัย อ.เชียงของ ( พิธีเปิดกาดไตลื้อศรีดอนชัย และพิธีกล่อมฝ้ายจัยยะมงคล )

ขอเชิญชวนร่วมสืบสานงานประเพณีไทลื้อบ้านศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย

( พิธีเปิดกาดไตลื้อศรีดอนชัย และพิธีกล่อมฝ้ายจัยยะมงคล )

วันเสาร์ ที่ 2 กันยายน 2566 ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป ณ วัดท่าข้ามศรีดอนชัย ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย

กิจกรรมภายในงาน

  • เวทีเสวนา “เสน่ห์ศรีดอนชัยไตลื้อ มนต์ขลัง ที่ยังมีชีวิต”
  • การแสดงชุดพิธีเปิดกาดไตลื้อ “ค้าแม่น ขายหมาน”
  • จุดเทียนชัยปฐมเริ่มพิธี ตัวแทนจุดเทียนนวโลกุตตระ๙

กำหนดการ ( พิธีเปิดกาดไตลื้อศรีดอนชัย และพิธีกล่อมฝ้ายจัยยะมงคล )

ภาพบรรยากาศงานกล่อมฝ้ายจัยยะมงคล และกาดไตลื้อศรีดอนชัย ปีที่ผ่านมา ~
ในปีนี้จะจัดในวันที่ 2 กันยายน 2566 นี้ เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป และกาดไตลื้อศรีดอนชัย จะจัดขึ้นต่อไปในทุกๆ เสาร์แรกของเดือน เชิญมาชิม ช๊อป สัมผัสวิถีชีวิตไทลื้อที่งดงาม ควรค่าแก่การอนุรักษ์

( สอบถามเพิ่มเติม เพจ กาดไตลื้อ วัดท่าข้าม ศรีดอนชัย ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย โทร. 089 560 1908 )

ประวัติความเป็นมา “ไทลื้อ”

ชาวไทลื้อคือชนชาติหนึ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกัน การแต่งกายด้วยผ้าทอไทลื้อที่ทอเองมีความประณีตและสวยงาม อีกทั้งยังมีการละเล่น ความเชื่อและพิธีกรรม ..

ภาพ : เพจ Chiang Khong TV

เดิมชาวไทลื้อนั้นมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่แคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนาน ประเทศจีนตอนใต้ ต่อมาการทำมาหากินเริ่มฝืดเคืองเพราะมีประชากรเพิ่มขึ้นแต่ทรัพยากรลดลง จนมาถึงปีพุทธศักราช 2428 ได้มีการอพยพโดยการนำของพญาแก้วออกจากเมืองอูเหนือไปยังดอยหลักคำที่ตั้งอยู่ในเขต จีน-ลาว อาศัยอยู่ในที่ดังกล่าวเป็นเวลา 1 ปี ต่อมาในปีพุทธศักราช 2429 ได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ที่ริมแม่น้ำโขง(อำเภอเชียงของในปัจจุบัน) ต่อมาย้ายมาอยู่ที่บ้านใหม่ทุ่งหมดตำบลสถาน และแยกย้ายกันไปอยู่ที่ต่างๆออกเป็นสามกลุ่ม

กลุ่มแรก : ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ริมห้วยเมี่ยง(บ้านห้วยเม็งในปัจจุบัน) นำโดยพญาหงส์คำ และ พญาจันต๊ะคาด

กลุ่มที่สอง : กลับไปประเทศลาวไปอยู่ที่บ้านโป่งและบ้านท่าฟ้า นำโดยพญาผัดดี

กลุ่มที่สาม : ไปอยู่ที่บ้านท่าข้าม ตำบลม่วงยายในอำเภอเวียงแก่นเมื่อประชากรเพิ่มขึ้นอีกพ่อกำนันเสนา วงศ์ชัย อดีตกำนันม่วงยาย เลยพาลูกบ้านอพยพต่อมาอยู่ทำมาหากินและได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามหัวไร่ปลายนาริมหมู่บ้านศรีชัยมงคล ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ ในครั้งแรกเริ่มมีบ้านเพียง 8 หลังคาเรือน ต่อมามีคนอพยพมาจากบ้านก้อนตื่นประเทศลาวมาสมทบ ซึ่งนำโดยนายผัด วงศ์ไทย ซึ่งปัจจุบันคือที่ “เฮือนไทลื้อ๑๐๐ปี”

ในส่วนของไทลื้อบ้านหาดบ้าย ตามคำบอกเล่าของผู้สูงอายุกล่าวกันสืบมาว่า กาลครั้งหนึ่งมีพี่น้องสองคนหนีมากับคนอื่น ๆ จากสิบสองปันนา มาถึงบ้านสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ คนน้องตั้งถิ่นฐานที่นั้น แต่คนพี่นั้นหนีต่อไปยังประเทศลาว ต่อมาทางประเทศลาวเกิดกลียุค ผู้คนจากหลวงพระบางถูกกดขี่บังคับให้ส่งส่วยหนักขึ้น บางส่วนถูกเกณฑ์ให้ไปช่วยรบ เมื่อเดือดร้อนสุดจะทนก็พากันข้ามแม่น้ำโขงมาฝั่งประเทศไทยภายใต้การนำของพ่อเฒ่าหนานวัง และพ่อเฒ่าใหม่พรม ระยะแรกก็อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง แต่เพราะแม่น้ำกัดเซาะตลิ่งพังบ้านเรือนเสียหาย จึงย้ายเข้ามายังบริเวณที่เป็นหาดบ้ายในปัจจุบัน เมื่อทางราชการให้ไปจดทะเบียนเป็นคนไทย ผู้คนไม่รู้ว่าจะใช้นามสกุลอะไร จึงยืมนามสกุลธรรมวงค์ของพรรคพวกใช้ นามสกุลดังกล่าวกลายเป็นนามสกุลที่มีผู้ใช้มากกว่านามสกุลอื่น ๆ

ปัจจุบันชุมชนไทลื้อขนาดใหญ่ ในอำเภอเชียงของ จะอยู่ที่”ชุมชนบ้านศรีดอนชัย”และ”ชุมชนบ้านหาดบ้าย” โดยทั้งสองแห่งต่าง เป็นชุมชนที่สร้างชื่อเสียงให้กับอำเภอเชียงของเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของชุมชน คือผ้าทอไทลื้อที่โด่งดังไปทั่วโลก และการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชนที่ยังคงรักษาขนบไว้ไม่ให้เลือนหาย ~

.. อ่านต่อคอลั่มน์หน้า

ข้อมูลจาก : Museamthailand / วิกิชุมชน
ภาพประกอบโดย : Ho Production House
Producer : อารามไร้ขอบเขต เชียงของ
Model : เปรมรัศมี เวียงแก้ว
Location : เกาะกลางน้ำโขง เชียงของ
(ข้อมูลและภาพจากเพจ Chiang Khong TV)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง