ตำรวจไซเบอร์ “กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” เผยว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่มีความสำคัญของบุคคลในการแสดงออก แต่ผู้นั้นจะต้องกระทำภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ไม่ไปกระทบสิทธิของบุคคลอื่น ซึ่งหากปราศจากขอบเขตย่อมเกิดความเสียหายต่อประชาชน หรือประเทศชาติ
Slut Shaming หรือการประณามหยามเหยียดผู้หญิงที่มีพฤติกรรมทางเพศ หรือจัดการกับร่างกายตนเองต่างจากที่สังคมส่วนใหญ่คาดหวัง ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการประณาม และตัดสินบุคคลอื่น โดยบางครั้งบุคคลที่ประณามก็เป็นผู้หญิงด้วยกันเอง ซึ่งความคิดดังกล่าวอาจนำไปสู่ Victim Blaming หรือการโทษหญิงซึ่งเป็นผู้เสียหายว่าตนเองเป็นต้นเหตุของการล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งนี้ประกอบกับที่ผ่านมาปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีเน็ตไอดอล หรือนักร้องหญิงที่มีชื่อเสียง ถูกสังคมแสดงความคิดเห็นในลักษณะดังกล่าวอย่างกว้างขวาง
การกระทำดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายความผิดฐาน “ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ” หรือความผิดฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ
อย่างไรก็ตามการ Slut Shaming หรือการประณามหยามเหยียดผู้หญิงที่มีพฤติกรรมทางเพศแล้ว ยังมีรูปแบบของการประณาม และการตัดสินบุคคลอื่นที่น่าสนใจอีก อาทิ Body Shaming หรือการประณาม วิจารณ์ รูปร่างหน้าตาของบุคคลอื่น Rich Shaming หรือการเสียดสี ประชดประชันบุคคลที่ร่ำรวย หรือการที่ให้ความใส่ใจกับการใช้จ่ายเงินของคนอื่นมากเป็นพิเศษ Toxic Masculinity หรือแนวคิดความเป็นชาย ซึ่งการกระทำ หรือพฤติกรรมที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม ไม่ควรถูกด้อยค่า ถูกประณาม ดูหมิ่น หรือเหยียดหยามทั้งนั้น นอกจากจะส่งผลเสียต่อบุคคลที่ถูกกระทำ ส่งผลกระทบต่อจิตใจ จนอาจพัฒนากลายเป็นโรคทางด้านจิตเวชแล้ว ยังอาจจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมีโทษทางอาญาอีกด้วย
เพจ : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ