เชิญชมดอกทานตะวันสวยๆ ในงาน “3 โป่งชื่นบานทานตะวันบานที่บ้านเรา” เนื่องในพิธีจัดงาน “ฟังธรรมปลาช่อนขุนน้ำห้วยโป่ง”

เที่ยวงาน 3 โป่งชื่นบานทานตะวันบานที่บ้านเรา เนื่องในพิธีจัดงานฟังธรรมปลาช่อนขุนน้ำห้วยโป่ง

เที่ยวชมทุ่งทานตะวันสวยๆ ในงาน ” 3 โป่งชื่นบานทานตะวันบานที่บ้านเรา ” เนื่องในพิธีจัดงานฟังธรรมปลาช่อนขุนน้ำห้วยโป่ง โดยความร่วมมือร่วมใจจากชุมชนบ้านโป่งทั้ง 3 หมู่บ้าน ( หมู่ 1 หมู่ 13 หมู่ 15 ตำบลทุ่งก่อ) และ อบต.ทุ่งก่อ อำเภอเวียงเชียงรุ้ง

จัดงานในวันที่ 21 -22 มิถุนายน 2567 ณ บ้านโป่ง ต.ทุ่งก่อ อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย

พบกับ

  • การแข่งขันบั้งไฟ
  • ร่วมสนุกกับรำวงย้อนยุค รำวงมาตรฐานวงเทเลอร์
  • จำหน่ายอาหารเครื่องดื่มตลอดงานทั้ง 2 วัน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 083-153-2009 (อบต.บรรเจิด)

รายละเอียดการสมัครแข่งขันบั้งไฟ วันที่ 21-22 มิถุนายน 2567

สถานที่จัดงาน : บ้านโป่ง เข้าได้ทั้งซอย 8 และซอย 9 ตำบลทุ่งก่อ อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย

พิกัด : สถานที่จัดงาน 3 โป่งชื่นบาน https://maps.app.goo.gl/NazTnNto8P4Tek286?g_st=i

.

ฟังธรรมปลาช่อน

ข้อมูลจาก : มัจฉชาดก : ที่มาของพิธีฟังธรรมพระยาปลาช่อนเพื่อขอฝน

โดย ดร.วกุล มิตรพระพันธ์ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการ กลุ่มภาษาและวรรณกรรม สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

พิธีฟังธรรมพระยาปลาช่อนเพื่อขอฝน

การฟังธรรมปลาช่อน

ผู้เขียน : อักขณิช / นาย อักขณิช ศรีดารัตน์

พิธี “ฟังธรรมปลาช่อน” พิธีกรรมนี้ถือว่าเป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยประเพณีฟังธรรมปลาช่อนนี้ ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดขึ้นทุกปีเพื่อ”ขอฝน” บูชาผีขุนน้ำหรือบูชาสายน้ำที่ได้ประทานความชุ่มชื้น และความอุดมสมบูรณ์มาให้กับชุมชนตลอดทั้งปี เป็นการสืบชะตาให้กับสายน้ำ แสดงความกตัญญูต่อสายน้ำที่ได้หล่อเลี้ยงชีวิตให้กับชาวชุมชน และเพื่อช่วยกันอนุรักษ์สายน้ำต่างๆ ให้มีความสะอาดบริสุทธิ์และอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนตลอดไป


การฟังธรรมปลาช่อน เป็นประเพณีหรือวัฒนธรรมท้องถิ่นของล้านนา ซึ่งมีการสืบทอดต่อๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ซึ่งปัจจุบันนี้เริ่มหาดูได้ยากเต็มที ทั้งนี้ พิธีกรรม “ขอฝน” นั้น มีอยู่ในทุกภาคของประเทศไทย เพียงแต่อาจจะเรียกชื่อต่างกันและมีรูปแบบพิธีกรรมที่แตกต่างกันออกไป เช่น พิธีแห่นางแมว พิธีสวดขอฝน และประเพณีแห่บั้งไฟ เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่มีความเกี่ยวข้องกับการขอฝนหรือดินฟ้าอากาศทั้งสิ้น

อาจารย์ สนั่น ธรรมธิ  แห่งสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ได้กล่าวถึงประเพณีฟังธรรมปลาช่อนเอาไว้อย่างน่าสนใจ ดังต่อไปนี้ว่า…..

“……ในพิธีกรรมขอฝนตามความเชื่อของชาวล้านนา สิ่งที่นิยมปฏิบัติคือ สวดพระปริตร์ คาถาขอฝนและคาถามหาเมฆ ตามด้วยการแสดงพระธรรมเทศนา เรื่อง “พญาปลาช่อน” หรือชื่อเต็มคือ “มัจฉาพญาปลาช่อน” ซึ่งเป็นหัวใจของงาน

พระธรรมเทศนาดังกล่าว เป็นคัมภีร์ประเภทชาดก เนื้อเรื่องผูกขึ้นโดยมีพญาปลาช่อนเป็นตัวละครเอก บำเพ็ญสังคหวัตถุธรรมจนสามารถช่วยเหลือบริวารให้รอดพ้นจากภัยแล้งได้สำเร็จ

เรื่องนี้เมธาจารย์ผูกเรื่องไว้ดังนี้ ในครั้งเมื่อพระพุทธองค์ทรงเสวยพระชาติเป็นราชาปลาช่อน ได้ปกครองบริวารปลาทั้งหลายในสระแห่งหนึ่ง ซึ่งแวดล้อมด้วยไม้นานาพันธุ์ ครั้งหนึ่งเกิดภาวะแห้งแล้งไปทั่ว ข้าวกล้าพืชพันธุ์เหี่ยวเฉาตาย น้ำในแหล่งน้ำแห้งขอด เหล่ามัจฉาชาติและสัตว์น้ำถูกบรรดาแร้ง เหยี่ยว กาและนกกระยางโฉบลงมาจิกกินเป็นอาหาร ปลาและสัตว์น้ำต่างได้รับความเดือดร้อน ราชาปลาช่อนเห็นดังนั้นก็ออกมาตั้งจิตอธิษฐาน พร้อมมองขึ้นไปบนท้องฟ้า ประกาศคาถาว่า

“แม้นตนจะเกิดมาในฐานะที่บริโภคสัตว์ด้วยกันก็จริงอยู่ แต่ตนก็มิเคยเบียดเบียนสัตว์ใด ด้วยสัจจะดังกล่าวขอให้ฝนตกลงมา เพื่อสงเคราะห์สัตว์ที่กำลังเดือดร้อนด้วยเถิด”

ด้วยอานุภาพแห่งสัจจาธิษฐาน ทำให้แท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของพระอินทร์ร้อนและแข็งกระด้าง เมื่อพระอินทร์ทราบเหตุก็บัญชาให้เทพบุตรชื่อ วลาหกเทพบุตร ลงมาบันดาลให้ฝนตก โดยห่มคลุมกายด้วยผ้าสีเขียวเหมือนเมฆ ขับเพลงอันมีชื่อ “เมฆคีตะ” ผินหน้าเฉพาะทิศตะวันตก พลันเหล่ามวลเมฆก็แตกเป็นเสี่ยง เกิดเสียงกึกก้องทั่วจักรวาลเกิดเป็นฝนห่าใหญ่เนืองนองทั่วท้องปฐพี

จากเนื้อหาของเรื่อง จึงนิยมนำคัมภีร์นี้มาอ่านแสดงเป็นพระธรรมเทศนาประกอบพิธี ซึ่งพิธีจะประกอบด้วยกิจกรรมโดยสังเขปคือ หาสถานที่ที่เหมาะสม เช่น บริเวณต้นน้ำ ลำธารใหญ่ หรือแม่น้ำที่อยู่ทิศตะวันออกหรือทิศเหนือของหมู่บ้าน ขุดสระจำลองขึ้นโดยให้กลางสระเป็นเกาะสำหรับประกอบพิธี รอบๆ สระมีการขัดราชวัตรประดับธงทิว พร้อมต้นกล้วย อ้อย ข่า ตระไคร้ ใบขิง แกะรูปสัตว์ปีก คือ กา นกกระยาง เหยี่ยว และแร้ง เกาะจับตามกิ่งไม้โดยให้กาอยู่ทิศตะวันออก นกกระยางอยู่ทิศใต้ เหยี่ยวเกาะทิศตะวันตกและแร้งจับกิ่งไม้ทิศเหนือ จัดหาปลาช่อนตัวใหญ่ไว้สองตัว พร้อมสัตว์น้ำนานา อาทิ กุ้ง ปู หอย ไว้จำนวนหนึ่ง

เมื่อถึงวันงาน พระสงฆ์จะเจริญพุทธมนต์บนเกาะกลางสระ จากนั้นพระเถระรูปใดรูปหนึ่ง อ่านคัมภีร์พญาปลาช่อน พระสงฆ์ประพรมน้ำมนต์แล้วปล่อยปลาช่อน และสัตว์น้ำท่ามกลางเสียงฆ้องกลองประโคมไปทั่วอาณาบริเวณ

ด้านรายละเอียดของพิธี แต่ละถิ่นอาจมีข้อปฏิบัติแปลกแยกออกไป บางแห่งมีการเชิญพระอุปคุต บูชาพระปัชชุนเทวบุตรหรือสรงน้ำพระพุทธรูปฝนแสนห่า เป็นต้น คัมภีร์พญาปลาช่อน เป็นคัมภีร์ใบลาน จารด้วยอักษรธรรมล้านนา ปกติเก็บรักษาไว้ในหีบพระธรรม ปีใดเมื่อจะประกอบพิธีขอฝน คัมภีร์ดังกล่าวจะถูกนำมาอ่านในพิธีเสมอมา…..”

ข่าว/ภาพ : เพจ อบต.ทุ่งก่อ เชียงรุ้ง , เพจประชาสัมพันธ์ท่องเที่ยว และซื้อขาย อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย อยู่ที่ บ้านโป่ง เวียงเชียงรุ้ง เชียงราย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง