แม่น้ำโขงที่เปลี่ยนไป กับโครงการวิจัยเพาะเลี้ยงปลากระเบนน้ำจืดแห่งแรกของเชียงราย

หลายสิบปีมานี้พบว่าแม่น้ำโขงที่ไหลผ่าน อ.เชียงแสน-เชียงของ ได้มีสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศที่เปลี่ยนไป กระทบกับอาชีพประมงของชุมชน โดยเฉพาะปลาน้ำโขงอย่างปลากระเบน ที่พบว่ามีจำนวนน้อยลง เสี่ยงต่อการสูญพันธ์ สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต จึงได้รวมกลุ่มประมงพื้นบ้านจัดทำโครงการวิจัยเพาะพันธุ์ปลากระเบนน้ำจืดแห่งแรก ที่จะเกิดขึ้นจริงในเร็วๆนี้

ปลากระเบนน้ำจืด

เคยเห็นกันไหม? ปลากระเบนน้ำโขง หรือชาวบ้านจะเรียกว่าปลาฝาไม ซึ่งปกติเราก็ไม่รู้จักหรือเห็นปลาชนิดนี้วางขายทั่วไปตามตลาด หรือพบได้ตามแหล่งน้ำอยู่แล้ว ซึ่งจากการหาข้อมูลพบว่าเป็นปลากระเบนน้ำจืด 1 ใน 8 ที่พบในประเทศไทย และที่ชุมชนบ้านดอนที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ เชียงราย โดยมักจับได้ทุกปีในช่วงฤดูที่น้ำโขงลด ประมาณเดือน ก.ย-ต.ค

แต่เวลานี้พบว่าปลาชนิดนี้อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งจากสถิติพบว่าปัจจุบันมีการจับได้น้อยลงเรื่อยๆ  ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้ร่วมมือกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน  ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน และบ้านดอนที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จึงได้ร่วมทำวิจัยและจัดทำโครงการอนุรักษ์ปลากระเบนแม่น้ำโขง เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ เป็นศูนย์เรียนรู้ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน เพราะว่าปลาชนิดนี้หายาก ราคาแพง ยังเป็นที่ต้องการของตลาด

 ปลากระเบนหรือปลาฝาไม ภาพจากสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

มีโอกาสได้ร่วมเดินทางไปเก็บข้อมูลกับทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต เพื่อไปติดตามสถานการณ์ การทำประมงพื้นบ้านในแม่น้ำโขงที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ และการจัดทำโครงการวิจัยอนุรักษ์ปลากระเบน กับกลุ่มประมงบ้านดอนที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย

จุดเริ่มต้นเราลงเรือกับชาวบ้านที่บริเวณใต้สะพานแม่น้ำกกบ้านสบคำ อ.เชียงแสน จากตรงนี้จะนั่งเรือไปยังจุดที่แม่น้ำกก ซึ่งไหลมาจากตัวเมืองเชียงรายไปบรรจบลงสู่แม่น้ำโขง บริเวณบ้านสบกก จากที่สอบถามพูดคุยกับชาวบ้านที่ทำประมง อยู่ที่ลั้งหาปลาบ้านพบว่าปัจจุบันตลอดแนวน้ำโขง อ.เชียงแสน -เชียงของ เหลืออยู่ไม่กี่ลั้งแล้ว เพราะหาปลาได้ยากขึ้น บางส่วนก็ออกไปหางานที่อื่น อาชีพอื่น ( ลั้งหาปลา ลักษณะจะเหมือนแพที่ลอยอยู่บนน้ำ แต่ที่นี่เขาเรียกว่าลั้ง ไม่แน่ใจว่าพื้นที่อื่นจะเรียกชื่ออะไร ชาวบ้านที่ทำประมงจะใช้เป็นที่พักหลับนอน )

ปริมาณน้ำกกที่ไหลมาจะมากหรือน้อย ยังจึงขึ้นอยู่กับระดับน้ำโขงด้วย หากวันไหนระดับน้ำโขงเพิ่มขึ้น น้ำบริเวณนี้ก็จะมากขึ้นตาม คุณไกรทอง เหง้าน้อย เจ้าหน้าที่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ที่พาเรานั่งเรือไปดู ได้คุยให้ฟังว่า น้ำโขงปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อนอย่างมาก ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไปด้วย ปลาหลายชนิดเสี่ยงสุญพันธุ์ หรือพบปลาบางชนิดมาใหม่ อย่างเมื่อไม่นานมานี้ยังได้รับแจ้งจากกลุ่มเครือข่ายประมงพื้นบ้านสามารถจับปลาสเตอร์เจียนในแม่น้ำกกได้  ซึ่งเดิมทีปลาสายพันธ์ุนี้จะต้องอยู่ในพื้นที่อากาศเย็น และสภาพอากาศที่เอื้อต่อการอยู่อาศัย แต่ล่าสุดมีการจับได้ที่แม่น้ำกก ปลามีที่มายังไงยังไม่แน่ชัด แต่นั่นหมายถึงว่าปลาชนิดนี้อาจะสามารถปรับตัวอยู่ได้ในน้ำกกหรือน้ำโขง ซึ่งยังไม่รู้ว่าหากปลาสามารถขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้เองจะมีปัญหากับระบบนิเวศ ห่วงโซ่อาหาร และมีผลกระทบกับปลาพื้นถิ่นอย่างไรบ้าง

จากการพูดคุยกับชาวบ้านที่ทำประมง ก็ได้คำตอบไปในแนวทางเดียวกันคือจับปลาได้น้อยลง เพราะการออกไปหาปลาแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับสภาพน้ำโขง น้ำขึ้น น้ำลง ไหลเชี่ยวแรง หรือน้ำนิ่ง นอกจากฤดูกาลตามธรรมชาติแล้ว สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงมาจากต้นแม่น้ำโขงที่อยู่ในเขตประเทศจีนมีการปล่อยน้ำออกจากเขื่อน ทำให้ระดับน้ำเปลี่ยนไป ล้วนมีผลกระทบกับการทำประมงพื้นบ้านของที่นี่ อีกทั้งปัญหาจากการทำประมงจากประเทศเพื่อนบ้านมีการแอบลักลอบเข้ามาในพื้นที่ ใช้เครื่องมือหาปลาผิดกฏหมาย มีการใช้ระเบิดเกาะแก่งต่างๆในการจับปลา การแอบใช้ไฟฟ้าช็อตเป็นต้น ซึ่งชาวบ้านก็ทำได้เพียงเฝ้าระวัง ตรวจตรากันเองเท่านั้น

บริเวณที่น้ำกกและน้ำโขง แม่น้ำสองสายไหลมาพบกัน เรียกว่าสบกก ปลาที่มักจับได้ส่วนใหญ่จะเป็นจำพวกปลากด ปลาแค้ ปลาเพี้ย หากวันไหนที่ระดับน้ำโขงกับน้ำกก ไม่เท่ากัน กระแสน้ำไหลเชี่ยวแรง ก็จับปลาไม่ได้เลย

โครงการวิจัยเพาะเลี้ยงปลากระเบนน้ำจืด

จากปัญหาเรื่องของระบบนิเวศของแม่น้ำโขงในปัจจุบัน ซึ่งมีสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะปลากระเบนที่มีโอกาสใกล้สูญพันธุ์ สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต จึงได้พยายามผลักดันโครงการวิวัยเพาะเลี้ยงปลากระเบนขึ้น ทั้งนี้เมื่อวัน 29 มิุนายน 2567  ได้เชิญกลุ่มชาวประมงจากเชียงแสนและเชียงของมาจัดอบรมให้ความรู้ทางวิชาการ ในเรื่องของการประเมินระบบนิเวศแม่น้ำโขง ที่ศาลาประชาคมหมู่บ้านดอนที่ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชนในการประเมินระบบนิเวศแหล่งอาหาร รวมไปถึงการผสมพันธุ์ และภัยคุกคาม ของปลากระเบนในลุ่มน้ำโขง เพื่อหาแนวทางในการอนุรักษ์และปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัย 

นายไกรทอง เหง้าน้อย เจ้าหน้าที่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต  กล่าวว่าสถานการณ์น้ำโขงในช่วงสิบปีที่ผ่านมา พบว่าชาวประมงในพื้นที่จับประกระเบนในแม่น้ำโขงได้น้อยลง ด้วยเหตุจากหลายปัจจัย ทั้งการสร้างเขื่อนของจีน การระเบิดเกาะแก่ง การเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ ล้วนมีผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัยและการขยายพันธุ์ของปลาชนิดนี้ จนเมื่อไม่นานมานี้พบว่ามีชาวประมงจับปลากระเบนได้บริเวณบ้านดอนที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต จึงได้ร่วมกับกลุ่มประมงพื้นบ้านเชียงแสนและเชียงของ ในการทำวิจัย ศึกษาเก็บข้อมูล เก็บตัวอย่างด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาวิเคราะห์ข้อมูลปลากระเบนในพื้นที่  เพื่อทำเป็นศูนย์อนุรักษ์เพาะพันธุ์ปลากระเบนในพื้นที่แม่น้ำโขง 

นอกจากนี้ยังมีอาจารย์สุทธิ มะลิทอง จากสถาบันเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้เข้ามาร่วมให้ความรู้ทางวิชาการกับกลุ่มชาวบ้าน ในเรื่องของ ประเมินสุขภาพแม่น้ำ การประเมินระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ที่มีผลต่อสัตว์น้ำ สำหรับความเสี่ยงของปลากระเบนก็คือพื้นที่อยู่อาศัย ถ้าหากพื้นที่อาศัยและแหล่งอาหารหายไป ก็จะทำให้ปลากระเบนลดลง นอกจากนี้พบว่าพืชริมน้ำก็จะเป็นแหล่งดักตะกอนที่ให้เกิดพื้นที่ดินโคลน และทราย จึงเป็นแหล่งที่อยู่ของอาหารของปลากระเบน “อีกปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาต่อปลากระเบนก็คือ เรื่องระดับน้ำที่มีการเปลี่ยนแปลง น้ำขึ้น น้ำลง ที่ไม่เป็นธรรมชาติ ก็จะส่งผลให้แหล่งที่อยู่และอาหารของปลากระเบนลดลง กระทบกับปลากระเบนโดยตรงหากไม่มีอาหารก็จะทำให้ย้ายถิ่นฐาน หรือสูญหายไป” อาจารย์สุทธิ กล่าว

ก่อนที่ช่วงบ่ายจะนำผู้เข้าร่วมอบรม ลงเรือล่องน้ำโขงเพื่อไปที่คก หรือวังน้ำ ที่เป็นจุดพบปลากระเบ็น ชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่าดอนมะเต้า พบว่าหากเป็นช่วงฤดูแล้งหรือน้ำโขงลดลง ประมาณช่วงเดือนกันยา – ตุลาคม  จุดนี้จะเป็นสันหรือดอนโผล่ขึ้นมา เป็นจุดที่น้ำนิ่ง  ปลาจึงมักจะมาหาอาหาร และผสมพันธุ์อยู่บริเวณนี้ ชาวประมงจะดักจับด้วยใส่เครื่องมือหาปลาที่เรียกว่ามอง ดักไว้ หรือใส่เบ็ดระแวง เมื่อปลาฝาไม หรือปลากระเบนออกมาว่ายหาอาหารกินจะลอยมาติดตะขอเบ็ด

ทางด้านนายถวิล ศิริเทพ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านดอนที่ ได้พูดถึงแนวทางการอนุรักษ์ปลากระเบนว่า ปัจจุบันที่หมู่บ้านมีประมาณ  20 กว่าหลังคาเรือนที่ทำอาชีพประมงในแม่น้ำโขง การจับปลาจะได้ดีที่สุดเฉพาะในฤดูน้ำลงเท่านั้น และปลาชนิดนี้จะไม่แพร่พันธุ์เหมือนปลาอื่นๆ จนกระทั่งทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้เข้ามาให้ข้อมูลองค์ความรู้ต่างๆ ดังนั้นทางกลุ่มประมงจึงได้ร่วมมือทำการวิจัยและเพาะพันธุ์ปลากระเบนขึ้นมา ซึ่งตอนนี้ขั้นตอนในส่วนต่างๆเหลือเพียงทำประชาพิจารย์กับชาวบ้านให้รับทราบเท่านั้น คาดน่าจะเปิดศูนย์อนุรักษ์ได้ภายในกี่เดือนข้างหน้านี้

ส่วนนายสมศักดิ์ นันทะรักษ์ ชาวบ้านดอนที่ ทำประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงมานาน  บอกถึงสถานการณ์หาปลาในแม่น้ำโขง ช่วงนี้เป็นช่วงของน้ำขึ้น การหาปลาก็ทำได้น้อยลง บางคนก็ต้องไปทำอาชีพอื่นเช่นทำสวนยางพารา ทำไร่ทำสวนอย่างอื่น รอจนถึงช่วงน้ำลด จึงกลับมาหาปลาอีกครั้ง  ในส่วนของปลากระเบนที่หาได้ล่าสุดก็ช่วงเดือน พ.ค-มิ.ย ที่ผ่านมา และในเรื่องของราคาที่ค่อนข้างแพงถึงกิโลกรัมละ 400 บาท เคยจับได้ 2 เมื่อช่วงเดือนธันวา น้ำหนักประมาณ 15 ก.ก  ขายได้เกือบหมื่นเลยทีเดียว พูดถึงโครงการอนุรักษณ์ปลากระเบนที่กำลังจะมีขึ้น ตอนนี้ขั้นตอนทุกอย่างได้รับความเป็นชอบจากส่วนราชการในพื้นที่ และกรมประมง เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็มองว่าจะเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เป็นศูนย์เรียนรู้ เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจชุมชนได้ไม่น้อย

สำหรับปลากระเบนในแม่น้ำโขงที่กำลังเผชิญกับภัยคุกคามร้ายแรงหลายประการที่ส่งผลต่อจำนวนประชากรและถิ่นที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะ การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ การควบคุมระดับน้ำของเขื่อนในแม่น้ำโขงใประเทศจีน ล้วนส่งผลต่อกระแสน้ำและรูปแบบการไหลของแม่น้ำโขง สิ่งนี้รบกวนวงจรชีวิตของปลา รวมถึงปลากระเบน ที่พึ่งพาการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตามธรรมชาติสำหรับการอพยพ การวางไข่ และการหาอาหาร การกัดเซาะตลิ่งที่เกิดจากน้ำขึ้นน้ำลง ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธ์ปลากระเบนที่พบเพียงแห่งเดียวในแม่น้ำโขงตอนบน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง