“นายก สมาคม รพ.เอกชน” ชี้โควิดอยู่ไปอีกไม่น้อย 2 ปี แนะฉีดmRNA 3 เข็ม เตรียมนำเข้า โมนูลพิราเวียร์-แพกซ์โลวิดจากลาว
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ที่โรงพยาบาลเกษมราษฏร์ ศรีบุรินทร์ จ.เชียงราย ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทบางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) (BCH) เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 เครือ BCH ซึ่งเป็นเอกชนที่ดูแลผู้ป่วยมากที่สุด โดยมีผู้ป่วยยืนยันหรือ RT-PCR เข้ารับการรักษามากกว่า 1.7 ล้านคน และยังมีโรงแรมในเครือ 43 แห่ง มีห้องรองรับประมาณ 16,000 ห้อง สามารถตรวจผู้ป่วยได้วันละ 18,000 คน มีเตียงผู้ป่วยหนักและปานกลาง หรือสีแดง และเหลือง ประมาณ 18,000 เตียง ดังนั้นหากมีการระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ก็สามารถเพิ่มห้องพักโรงแรมในเครือรองรับได้เพิ่มอีกเป็น 18,000 ห้อง
ศ.ดร.นพ.เฉลิม กล่าวด้วยว่า การจัดหาวัคซีนภาคเอกชนนั้นสามารถจัดหาวัคซีนทางเลือกได้ซึ่งพบว่าการจะทำให้มีภูมิคุ้มกันได้ผล 78% ต้องไม่ฉีดไขว้แต่ต้องเป็นแบบ mRNA จำนวน 3 เข็มติดต่อกัน อย่างไรก็ตามในประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนตามสูตรต่างๆ กันมามากแล้วจึงเห็นว่าต้องเริ่มต้นกันใหม่ เพราะคาดการณ์ว่าโควิด-19 จะยังคงอยู่กับเราไปอีกอย่างน้อย 2 ปี
ส่วนยารักษาที่ยอมรับกันทั่วโลกมี 2 ชนิด คือโมโนพิราเวียร์ ที่ให้ผล 37-60% และแพกซ์โลวิด 89% แต่กรณีประเทศไทยเราใช้ฟาวิพิราเวียร์ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีไม่กี่ประเทศที่ใช้ สาเหตุส่วนหนึ่งเเพราะประเทศไทยถูกยกให้เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป ทำให้ไม่ได้รับสิทธิบัตรของยารักษา 2 ชนิดแรก ดังนั้นจากการที่ BCH ได้เข้าไปสร้างโรงพยาบาลของไทยแห่งแรกที่นครหลวงเวียงจันทร์ สปป.ลาว โดยมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา และได้ประสานงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงเตรียมจะขอนำเข้ายารักษาโควิด-19 ยี่ห้อโมโนพิราเวียร์และแพกซ์โลวิด เนื่องจาก สปป.ลาว ได้รับสิทธิบัตรในสูตรยาดังกล่าวแล้วโดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทบางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) (BCH) กล่าวอีกว่า โรงพยาบาลใน สปป.ลาว แห่งแรกของเรา มีขนาด 250 เตียง หลังเปิดได้เพียง 43 วัน ก็มีผู้ไปใช้บริการวันละกว่า 200 ราย โดยเป็นคนลาว 75% และชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีน 25% ส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะที่มียอดจ่ายมากกว่าการรักษาในประเทศไทยถึง 2 เท่าตัวและมีประเภทโรคและการรักษามากกว่าทำให้มีรายได้แล้วกว่า 40 ล้านบาท และเชื่อว่าเมื่อถึง 1 ปี คาดว่าจะถึง 800 ล้านบาท และคงต้องเพิ่มเตียงเป็น 300-350 เตียง สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะมีการระบาดของโควิด-19 และโรงพยาบาลจากประเทศไทยมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับสูง ทำให้โรงพยาบาลแห่งนี้เปิดสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะ 2 ชั้น ซึ่งตรงกับนโยบายของทางการ สปป.ลาว ที่ต้องการแบ่งเบาผู้ป่วยที่มีฐานะให้ไปยังโรงพยาบาลเอกชนโดยตรง
“ภาพรวมในเครือที่มีโรงพยาบาล 15 แห่งและอื่นๆ พบว่าปี 2564 นี้ BCH มีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีรายได้เพิ่มขึ้น 120% มูลค่า 14,691.2 ล้านบาท มากกว่าปี 2563 ที่ลดลง 1.4% มูลค่า 6,674.7 ล้านบาท และมีกำไรที่ยังไม่หักต้นทุนหรือ EBITDA ในปี 2564 เพิ่มขึ้น 233% มูลค่า 6,648.6 ล้านบาท มากกว่าปี 2563 ที่เพิ่มขึ้นเพียง 8.7% มูลค่า 1,994.4 ล้านบาท เมื่อคำนวณแล้วได้สุทธิในปี 2562 จำนวน 894.1 ล้านบาท ลดลง 13.2% และปี 2563 จำนวน 951.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% ต่อมาปี 2564 นี้กำไรสุทธิ 4,365 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 359% ที่น่าสนใจคือมีผู้ป่วยจากต่างประเทศนิยมมาใช้บริการเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะคูเวต กาตาร์ จีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย ฯลฯ ศ.ดร.นพ.เฉลิม กล่าว
ศ.ดร.นพ.เฉลิม กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ผลจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้ทางเครือ BCH ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลประชาชนและผู้ป่วยในทุกมิติทั้งการบริหารด้านวัคซีน การตรวจหาเชื้อและการรักษาผู้ป่วย ดังนั้นทาง BCH จึงได้เพิ่มการให้บริการโดยเปิด 5 ศูนย์รองรับเพื่อให้การรักษาครอบคลุมโดยไม่ต้องส่งตัวอย่างไปตรวจภายนอกเพื่อลดการติดต่อจนทำให้เสี่ยงต่อการระบาดต่อไป.
ที่มา : ท้องถิ่นนิวส์