มูลนิธิดอยเวียงแก้ว ได้จัดพิธีอายุวัฒนมงคลสืบชะตาหลวง “พระครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร” ครบ 58 ปี 38 พรรษา

วันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2565 มูลนิธิดอยเวียงแก้ว ได้จัดพิธีอายุวัฒนมงคลสืบชะตาหลวง “พระครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร” ครบ 58 ปี 38 พรรษา มีศรัทธาสาธุชนหลั่งไหลมาร่วมงานกันจำนวนมาก ถึงแม้ปีนี้พระครูบาบุญชุ่ม ยังปฏิบัติเจริญธรรมกรรมฐาน ปิดวาจา บำเพ็ญเพียรในถ้ำเป็นปีที่ 3 ที่ถ้ำหลวงเมืองแก๊ด ประเทศเมียนมา แต่พลังศรัทธาที่มีต่อพระครูบาบุญชุ่ม ทำให้บริเวณสถานปฏิบัติธรรมวัดดอยเวียงแก้ว ต.ศรีดอนมูล คราคร่ำไปด้วยพุทธศาสนิกชนที่เดินมาร่วมงานจำนวนมาก

ในเวลา 07.09 น. พระสงฆ์ออกรับบิณฑบาต หน้าองค์พระคันธาระองค์ปฐม (พระองค์ใหญ่) เดินลงมาตามบันไดนาค โดยมีพล.อ.สุทัศน์ จารุมณี ประธานมูลนิธิดอยเวียงแก้ว นำพุทธศาสนิกชน ใส่บาตรเป็นข้าวสารอาหารแห้ง กันจำนวนมาก

กระทั่งเวลา 09.09 น. นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พล.อ.สุทัศน์ จารุมณี ประธานมูลนิธิดอยเวียงแก้ว พล.อ.ภูดิส ทัตติยโชติ ที่ปรึกษามูลนิธิดอยเวียงแก้ว พล.ต.ท.มนตรี ยิ้มแย้ม รองจเรตำรวจแห่งชาติ และนางพัชระภรณ์ ยิ้มแย้ม ที่ปรึกษามูลนิธิดอยเวียงแก้ว ได้ร่วมประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ ศาลาพระมหาวิหารบุญชุ่มรัตนปุรีศรีธรรมราชา โดยมี พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย พระครูพิศาลธรรมาทร เจ้าคณะอำเภอเชียงแสน พระครูวิกรมสมาธิคุณ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุจอมกิตติ ประกอบพิธิเจริญพระพุทธมนต์ และร่วมพิธีสืบชะตาหลวงพระครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร อรัญวาสีภิกขุ โดยมีการผูกโยงด้ายมงคลมาให้ร่วมพิธีได้ผูกไว้กับศีรษะ เพื่อเป็นสิริมงคล

ต่อมาเวลา 10.39 น. นายภาสกร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้ประกอบพิธีสรงน้ำรูปเหมือนพระครูบาบุญชุ่ม โดยนำคณะ และศรัทธาสาธุชน เข้าสรงน้ำ ใส่ลงรางไม้ให้น้ำไหลไปถึงรูปเหมือนพระครูบาบุญชุ่ม ซึ่งมีพุทธศาสนิกชนต่างเข้าสรงน้ำกันจำนวนมาก


พล.อ.สุทัศน์ ประธานมูลนิธิดอยเวียงแก้ว เปิดเผยว่าสำหรับวันเกิดของพระครูบาบุญชุ่มนั้น ทุกปีเป็นวันที่ท่านเหนื่อยที่สุดของแต่ละปี เพราะในวันดังกล่าวจะมีคนมารอกราบท่านเรือนแสน รถติดยาวหลายกิโล แต่ทุกคนก็ไปด้วยใจศรัทธา ชีวิตของครูบาเป็นเช่นนี้มานาน เป็นมาแต่เมื่อยังเป็นสามเณร ตอนนี้ท่านได้อธิษฐานจิตเข้าบำเพ็ญภาวนาอยู่ในถ้ำเพียงผู้เดียว ตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. 62 ถึงวันนี้เป็นเวลา 2 ปี 7 เดือนเศษแล้ว ครูบาได้เขียนจดหมายเปิดผนึก ให้ธรรมะจากถ้ำ ส่งถึงศิษยานุศิษย์ทุกคน จำนวน 22 ฉบับ ทุกฉบับเพื่ออบรมธรรมะ และเตือนสติ อย่าตั้งอยู่บนความประมาท ซึ่งเป็นข้อธรรมะซึ่งเปรียบเสมือนรอยเท้าช้าง ซึ่งเท้าของสัตว์อื่นๆ ทั้งหมด ล้วนรวมลงอยู่บนรอยนั้นได้ทั้งสิ้น โดยมีหัวข้อในหมวดธรรมสำคัญของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านถ่ายทอดให้ศิษยานุศิษย์นำไปศึกษาต่อในรายละเอียดด้วยตนเองให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ดั่งกับคำของพระพุทธองค์ที่ว่า “ททมาโน ปิโย โหติ” ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก

ภาพ พงศกร ตันสุวรรณ
ข่าว : หนังสือพิมพ์เชียงรายนิวส์