เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หมู่บ้านบ้านแม่แก้วรุ่งเรือง หมู่ 14 ต.แม่อ้อ อ.พาน จ.เชียงราย ได้มีชาวบ้านร่วมกันสร้างรายได้ จากดอกเลาข้างทาง นำมาต่อยอดเป็นธุรกิจในหมู่บ้าน ทำให้หลายครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยต่อคน ขั้นต่ำ 250-300 บาท ต่อวันต่อคน สู้วิกฤตโควิด-19 ต่อไป
นางนุจลี บัวแดง เผยว่า สืบจาก นางเตียม บัวแดง แม่ของตนได้เริ่มตัดดอกเลามาขายตั้งแต่ปี 2563 และได้ชักชวนชาวบ้านออกมาทำ เพื่อสร้างรายได้โดยเก็บดอกเลาจากแถบม่อนดอยในชุมชน ต.แม่อ้อ อ.พาน จ.เชียงราย และ พื้นที่ตามข้างถนนสาย อ.พาน-เชียงราย โซนพื้นที่แถวหลังวัดร่องขุ่น ถนนเส้นทางไปน้ำตกขุนกรณ์ จ.เชียงราย ตลอดจนหมู่บ้านชนเผ่า ต.โป่งแพร่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย จากนั้นได้นำมาคัด ตัดแต่ง นำมาตากและทำการย้อมสีดอกเลาหลากหลายสี ปัจจุบันมีออเดอร์เข้าสู่หมู่บ้าน สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเป็นจำนวนมาก รวมถึงเด็กนักเรียนที่หยุดเรียนมารับจ้างช่วงโควิดระบาด
โดยดอกเลาที่ทำการย้อมสี หรือสีธรรมชาติ จะถูกนำไปตกแต่งงานตามโรงแรม รีสอร์ท งานแต่งเวดดิ้ง งานจัดนิทรรศการ ร้านกาแฟ ประดับร้านค้าและงานอีเว้นท์อื่นๆ ซึ่งทางหมู่บ้านได้ช่วยกันผลักดันการตลาดจนประสบความสำเร็จสู่ชุมชุน นอกเหนือจากภาคเกษตรกรรม
สำหรับดอกเลา เป็นพืชตระกูลหญ้า ความสวยตามธรรมชาติของดอก จะมีขนาดความยาว 60-100 cm. ก้านดอกจะยาวมาก เมื่อดอกแก่และโดนแดดและลม จะทำให้ดอกฟูสวยงามสีธรรมชาติ จะขายมัดละ 150 บาท ส่วนย้อมสีมัดละ 200-250 บาท (1 มัดมีประมาณ 12-15 ก้าน) สีที่ใช้ย้อมดอกเลาคือสีย้อมกก นิยมสีแดง สีชมพู สีส้มและสีเหลือง เป็นต้น มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 15,000-30,000 บาท
ถือว่าเป็นอีกธุรกิจหนึ่ง ที่เกิดการสร้างรายได้ในชุมชน แม้จะเป็นการสร้างรายได้ในระยะสั้น ที่นอกเหนือจากอาชีพหลักในภาคเกษตรกรรม การตัดดอกเลายังสามารถป้องกันไฟป่าทางอ้อมอีกด้วย ดอกเลาเริ่มออกดอกและสามารถตัดได้ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน และหมดในช่วงปลายเมษายน หรือพฤษภาคม
ที่มา : เชียงใหม่นิวส์