วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 ณ พระตำหนักดอยตุง ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานภายใต้สังกัด ทส. ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยมี นายวราดิศร อ่อนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการให้การต้อนรับ
สำหรับในการลงพื้นที่ในครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะ ได้ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานภายใต้สังกัด ทส. ในท้องที่จังหวัดเชียงราย พร้อมมอบนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการน้อมนำแนวพระราชดำริฯ ไปขยายผลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่ รวมถึงร่วมรับฟังการบรรยายสรุป การดำเนินงานโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งตั้งอยู่บนดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ มีชายแดนติดต่อกับประเทศเมียนมาร์ เป็นแนวยาวถึง 27 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 93,515 ไร่ ใน 3 อำเภอของจังหวัดเชียงราย คืออำเภอแม่จัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่สาย โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ 11,000 คน จาก 6 ชนเผ่า อาทิ อาข่า , ลาหู่ , ไทใหญ่ เป็นต้น ท่ามกลางความแห้งแล้งและความเป็นอยู่แร้นแค้น เมื่อปี 2531 ชาวบ้าน ที่ดอยตุงต้องหาทางอยู่รอดด้วยการประกอบอาชีพผิดกฎหมาย เช่น การทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่น เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเล็งเห็นถึงต้นเหตุของปัญหาดังกล่าว ว่าเกิดจาก ความยากจน และการขาดโอกาสในชีวิต ทรงมีพระวิสัยทัศน์ให้คนดอยตุงสามารถพึ่งพาตัวเองได้ และอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างพึ่งพาอาศัย
การดำเนินโครงการจึงเป็นไปในรูปแบบ “ปลูกป่า ปลูกคน” หรือการแก้ปัญหาความยากจนที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง และยึดหลักความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่สมดุลกับความมั่นคงทางสังคม และความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ซึ่งการปลูกป่าที่ดอยตุง คือ จุดเริ่มต้นแห่งการคืน ความสมบูรณ์จากสภาพป่าเขาที่เสื่อมโทรม พื้นดินที่หมดสภาพ ลำธารที่แห้งเหือด ปัจจุบันกลายเป็นป่าต้นน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ป่าเศรษฐกิจ และป่าใช้สอยในสัดส่วนที่พอเหมาะเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนบนดอยตุง
โดยโครงการพัฒนาดอยตุงฯ เริ่ม ‘ปลูกคน’ ด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่ให้ดีขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทั้งหมดแบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 “ อยู่รอด “ เป็นการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต วางระบบสาธารณูปโภคและสาธารณสุข เพื่อให้ชุมชน ‘อยู่รอด’ พ้นจากความอดอยาก และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอาชีพระยะต้น โดยไม่บุกรุกทำลายพื้นที่ป่า