สพฉ.ร่วมพิธีเปิดโครงการรถโมบายสโตรคยูนิต ระบบปรึกษาทางไกล ก้าวของการพัฒนาความร่วมมือในการช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันครบวงจรในประเทศไทยในพื้นที่ จ.เชียงราย
เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้มอบหมายให้นายรังสรรค์ คูหากาญจน์ ผจก.กลุ่มงานการแพทย์ฉุกเฉินพื้นที่ 2 และนางสาวอนัญญา พันธ์คุณาวัฒน์ ผจก.กลุ่มงานการแพทย์ฉุกเฉินพื้นที่ 1 ร่วมพิธีเปิดโครงการรถโมบายสโตรคยูนิต ร่วมกับระบบปรึกษาทางไกล และการส่งต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันแบบครบวงจรในประเทศไทย Mobile Stroke Unit – Stroke One Stop (MSU-SOS) เพื่อใช้ปฏิบัติการแก่โรงพยาบาลสมเด็จ พระยุพราชเชียงของ (รพร.เชียงของ) วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมี แพทย์หญิงสุดานี บูรณเบญจเสถียร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฯ และรองศาสตราจารย์นายแพทย์ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์ โรคหลอดเลือดสมองศิริราชพยาบาล กล่าวถึงระบบและความเป็นมาของโครงการMSU-SOS ซึ่งจากข้อมูลการศึกษา พบว่า โรคหลอดเลือดสมองยังเป็นปัญหาสำคัญทั่วโลก และเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 โดยผู้ป่วยโรคนี้ กว่าร้อยละ 80 พบในประเทศ ที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา สำหรับในประเทศไทย พบสูงใน 3 อันดับต้นมาโดยตลอด และในอนาคต มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลการศึกษา พบว่า เวลาเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการรักษาผู้ป่วยโรคนี้ ซึ่ง หากผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็วจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายเป็นปกติได้สูง พิการน้อยลง และลดอัตราตายจากโรคนี้ได้
โครงการรถโมบายสโตรคยูนิต (MSU-SOS) เป็นโครงการต้นแบบการพัฒนาระบบปรึกษาทางไกลในการรักษา เป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โรคหลอดเลือดสมอง โดยในรถโมบายสโตรคยูนิต มีเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามารถสแกนสมองผู้ป่วย และปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหลอดเลือดสมองผ่านระบบปรึกษาทางไกล ที่ใช้โครงข่ายไร้สายความเร็วสูง 4G/5G ในการสื่อสารกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ช่วยในการตัดสินใจให้การรักษาได้แบบเรียลไทม์ตลอดเวลา และสามารถเชื่อมต่อประสานงานกับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ในการรับและนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลปลายทางที่มีศักยภาพการรักษาที่ครบวงจร ซึ่งรถโมบายสโตรคยูนิตจังหวัดเชียงราย สามารถให้บริการได้ครอบคลุม 5 อำเภอ ได้แก่ เชียงของ เวียงแก่น ขุนตาล เทิง และพญาเม็งราย โดยมี รพร.เชียงของเป็นผู้ปฏิบัติการ (รพ.ต้นทาง) และโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์เป็นที่ปรึกษา โครงการฯดังกล่าว เป็นความสำเร็จ และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการรักษาโดยความร่วมมือของ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิไทยคม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ร่วมกับเครือข่ายผู้ปฏิบัติการ และหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรไม่แสวงหากำไร ครอบคลุมทั้ง ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศยาน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการ กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ผ่านหมายเลข 1669 โดยในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร หรือพื้นที่ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยยานพาหนะปกติได้ สามารถนำส่งผู้ป่วยโดยอากาศยาน ณ จุดเกิดเหตุไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการรักษา หรือโรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทางได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาคู่มือแนวทางปฏิบัติในการให้การรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (Medical Protocol) ร่วมกับ โรงพยาบาล ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาระบบการให้การรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเป็นไปในแนวทางเดียวกัน อย่างมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ลดอัตราการตาย และความพิการ รวมทั้งลดความสูญเสียต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัว ลดค่าใช้จ่ายของกองทุนสุขภาพในการดูแลผู้ป่วยที่พิการระยะยาวต่อไปด้วย
Cr : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย