หอแห่งแรงบันดาลใจ เป็นนิทรรศการแบบสื่อผสมผสาน เล่าเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของครอบครัวหนึ่ง ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กันและกัน จนส่งผลถึงคนทั้งแผ่นดิน เกิดแรงบันดาลใจจากการทรงงาน และพระราชดำริต่างๆ ได้รับการออกแบบโดย ร้อยเอกจิทัศ ศรสงคราม พระนัดดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีจุดประสงค์ เพื่อให้ประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ รวมถึงชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยว ได้รู้จักและเข้าใจถึงแนวพระราชดำริของสมาชิกทั้งห้าพระองค์ในราชสกุลมหิดล อันประกอบด้วย สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก , สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี , พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล , พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ต่างทรงเป็นแบบอย่างที่ดีของกันและกัน ในการทรงงานเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของแผ่นดินไทย และส่งผลเป็นแรงบันดาลใจให้คนทั้งแผ่นดินไทย มาจัดแสดงภายในหอแห่งแรงบันดาลในนี้
หอแห่งแรงบันดาลใจตั้งอยู่บริเวณด้านหน้า ทางเข้าสวนแม่ฟ้าหลวงและพระตำหนักดอยตุง เดิมทีเป็นหอพระราชประวัติ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี “สมเด็จย่า” ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาเป็นนิทรรศการสื่อผสมที่จัดแสดงเรื่องราวในราชสกุลมหิดล ดูอาคารภายนอกไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไหร่ แต่หากได้เข้าไปข้างในจะพบกับความยิ่งใหญ่ ทั้งเรื่องราวและแสงสีเสียงในชั้นใต้ดินจัดแสดงไว้แต่ละห้องบอกเรื่องเล่าราวต่างๆให้ศึกษา จะให้ดีควรมีเวลาอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง
นิทรรศการถ่ายทอดพระราชจริยวัตรในการทำงาน และพระวิริยะอุตสาหะที่มุ่งพัฒนาความเป็นอยู่ของคนไทย โดยหวังให้ผู้เข้าชมได้เกิดแรงบันดาลใจ ยึดมั่นในความดี คิดดี ประพฤติปฏิบัติดีเท่าที่ตนเองจะสามารถทำได้ เพื่อพลังแห่งความดีนี้ จะได้ผลิดอกออกผลบานสะพรั่งไปทั่วทุกหนทุกแห่ง เช่น ราชสกุลมหิดลที่เปรียบเสมือนหยดน้ำหยดเล็กๆ ที่ค่อยๆ หลั่งริน สร้างแรงกระเพื่อม ดับร้อน และบันดาลความชุ่มชื่นผาสุกไปทั่วแผ่นดินไทย
ภายในอาคารแบ่งเป็นห้องต่างๆ
ห้องที่ 1 ราชสกุลมหิดล กล่าวถึงราชสกุลมหิดล ในฐานะครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่งที่อบอุ่น เปี่ยมไปด้วยรัก และเปรียบดั่งหยดน้ำที่รวมตัวกันหลั่งลงมาบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่พสกนิกรชาวไทย
ห้องที่ 2 “เรื่องราวของราชสกุลผ่านพระราชประวัติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี”
เป็นห้องที่นำเสนอพระราชประวัติสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ ในแต่ละช่วงของพระชนม์ชีพ จากเด็กสาวสามัญ (เด็กหญิงสังวาลย์) มาเป็นคู่ชีวิตเจ้าฟ้า (หม่อมสังวาลย์) ได้ซึมซับพระราชปณิธานอันแรงกล้าของสมเด็จพระบรมราชชนก และทรงนำมาอบรมเลี้ยงดูพระโอรส พระธิดา ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เมื่อทรงเป็นแม่ของลูก (พระราชชนนีศรีสังวาลย์) ช่วงสุดท้ายทรงเป็นแม่ฟ้าหลวง (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสมีชีวิตที่ดีขึ้น
ห้องที่ 3 “การกลับคืนสู่มาตุภูมิของราชสกุลมหิดล” ที่ห้องนี้เขียนไว้ว่า “จากดินบินสู่ฟ้า จากฟ้าคืนแผ่นดิน”
ซึ่งเป็นเหตุการณ์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่สมาชิกพระองค์หนึ่งของราชสกุลนี้ต้องทรงเปลี่ยนแปลงจากชีวิตส่วนพระองค์ที่มีความสุขเรียบง่าย อิสระ มาทรงรับหน้าที่อันสูงสุด เป็นความหวังของประชาชน เสด็จนิวัติกลับคืนสู่มาตุภูมิด้วยความรับผิดชอบที่ทรงมีต่อประเทศชาติ
ห้องที่ 4 “ความทุกข์ยากของประชาชน”
ที่สะท้อนความทุกข์หลายมิติของปัญหาที่คุกคามคุณภาพชีวิตของประชาชน และบั่นทอนคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำเสนอผ่านแผ่นกระดานเขาวงกตที่บอกเล่าให้เห็นถึงความทุกข์ยากของพสกนิกร
ห้องที่ 5 แบบแผนการแก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนอย่างยั่งยืน
ด้วยอุปกรณ์ธรรมดาๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ใช้ทรงงานจนคุ้นตา ได้แก่ แผนที่ วิทยุสื่อสาร ดินสอ และกล้องถ่ายรูป สะท้อนให้เห็นหลักการและวิธีการทรงงาน ที่มีความมุ่งมั่นทำความ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เพื่อแก้ไขปัญหาของคนไทย
ห้องที่ 6 “แบบแผนการแก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนบนดอยตุง”
ห้องนี้สะท้อนพระวิสัยทัศน์และการทรงเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุงของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อทรงมีพระชนมายุ 87 พรรษา เพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่น ความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจบนดอยตุง อย่างครบวงจรด้วยการ “ปลูกป่า ปลูกคน” ควบคู่กันไป
ห้องที่ 7 ห้องแห่งแรงบันดาลใจ
แรงบัลดาลใจที่สมาชิกราชสกุลมหิดลทั้งห้าพระองค์ทรงมีต่อกันและกัน ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหา และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีแก่ประเทศชาติ
“หอแห่งแรงบันดาลใจ” ตั้งอยู่ที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เปิดให้เข้าทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
สำนักงานดอยตุง โทร. 0 5376 7015-17
สำนักงานกรุงเทพฯ โทร. 0 2252 7114 ต่อ 212, 213
เว็บไซต์ www.doitung.org