‘รมช.มนัญญา’ ปลื้มความสำเร็จ ตั้ง ‘แลปตรวจแมลงศัตรูพืช และสารตกค้างในผักผลไม้ด่านเชียงของ’ ตรวจ-วิเคราะห์ ได้ทันที สะดวก รวดเร็วแก่ผู้ประกอบการ และสร้างความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค

รมช.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การค้าชายแดน พร้อมด้วย นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยตรวจเยี่ยมการดำเนินงานนำเข้าส่งออกของด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (แห่งที่ 4) และเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ ด่านตรวจพืชเชียงของ กรมวิชาการเกษตร จากนั้น เป็นประธานการประชุมและรับฟังการรายงานผลการปฏิบัติงานสถานการณ์การค้าชายแดนของด่านตรวจพืชเชียงของ ณ ห้องประชุมด่านตรวจพืชเชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้มอบนโยบายเร่งรัดการสร้างห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์แมลงศัตรูพืช และสารตกค้างในผักและผลไม้ ด่านชายแดนเชียงของ เพื่อเตรียมความพร้อมการนำเข้า – ส่งออกสินค้าเกษตรให้เบ็ดเสร็จและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการและคู่ค้านั้น ในปี 2564 ด่านตรวจพืชเชียงของได้รับงบประมาณจัดสรรเครื่องมือปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ พร้อมห้องปฏิบัติการ ขณะนี้ได้สร้างแล้วเสร็จ และในปี 2565 ได้ของบสนับสนุนอาคารปฏิบัติการเพื่อความสะดวก รวดเร็ว ให้การปฎิบัติงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากจะเป็นการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารแล้ว ยังสร้างความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคทั้งประเทศต้นทางและปลายทางอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในการตรวจหาสารต่างๆ เป็นหน้าที่ของ อย. ซึ่งปัญหาคือเมื่อตรวจพบสารที่เป็นอันตราย จะต้องนำไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์เชียงราย จึงอยากให้ดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ที่ด่านเชียงของให้เบ็ดเสร็จ ลดความล่าช้าลงเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจะกลับไปหารือกับกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง


“เดิมด่านตรวจพืชเชียงของ ทำหน้าที่เก็บตัวอย่างไปตรวจสอบ แต่ปัญหาคือไม่มีห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์แมลงศัตรูพืช และสารตกค้างในผักและผลไม้ ตรวจได้เฉพาะโรคและแมลงศัตรูพืชเท่านั้น เมื่อสินค้ามาถึงจะต้องเก็บตัวอย่างส่งไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการด่านตรวจพืชเชียงแสน ซึ่งอยู่ห่างไป 40 กิโลเมตร ทำให้เสียเวลา พืชผักผลไม้เสื่อมสภาพ และไม่ทันกับปริมาณสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมาตรการต่าง ๆ ระหว่างประเทศที่เข้มข้นขึ้น จึงได้มอบนโยบายให้สร้างห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์แมลงศัตรูพืช และสารตกค้างในผักและผลไม้ที่ได้มาตรฐาน โดยสุ่มตัวอย่างตรวจศัตรูพืชเชิงลึก จากนั้นนำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการดังกล่าว เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ และที่สำคัญที่สุดจะทำให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัยมากขึ้น ช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกรไทย ทั้งนี้ ขอชื่นชมกรมวิชาการเกษตรที่สามารถดำเนินงานตามนโยบายที่มอบไว้ ถือเป็นความความสำเร็จของภาคเกษตรไทย” รมช.มนัญญา กล่าว


ทั้งนี้ ด่านตรวจพืชเชียงของ สังกัดสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศจีน และ สปป.ลาว มีหน้าที่ควบคุม ตรวจสอบพืช ผลิตผลพืชและวัสดุการเกษตรที่นำเข้า และส่งออกตามตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ร.บ. พันธุ์พืช พ.ร.บ.ยาง และ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช


สำหรับผลการดำเนินงานการนำเข้าสินค้าเกษตรในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา มีปริมาณการนำเข้า 346,535.06 ตัน คิดเป็นมูลค่า 10,357.94 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2563 ลดลง 17.24% พืชนำเข้าที่มีการตรวจมากที่สุด คือ องุ่น ผักกาดขาว ส้ม ผักตระกูลกะหล่ำ และพริกสด ตามลำดับ ในส่วนของการส่งออกสินค้าเกษตร ปี 2564 มีปริมาณการส่งออก 554,624.58 ตัน คิดเป็นมูลค่า 31,114.14 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 เพิ่มขึ้น 34.08% พืชส่งออกที่มีการตรวจมากที่สุด ได้แก่ ลำไยสด มังคุด ทุเรียน พริกสด และส้มโอ ตามลำดับ




นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) รัฐบาลจีน ได้มีประกาศปิดการเข้า – ออก ที่ด่านโม่ฮาน ชั่วคราว (ตั้งแต่ 5 ตุลาคม -16 พฤศจิกายน 2564) ส่งผลให้รถสินค้าทั้งเข้าและออกติดอยู่บริเวณ ชายแดนบ่อเต็น – โม่ฮาน จำนวนมาก ทำให้การจราจรติดขัด และการเปิดใช้เส้นทางรถไฟจีน – ลาว เมื่อวันที่ 4 – 7 ธันวาคม 2564 ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายทดลองเปลี่ยนไปใช้เส้นทางเปิด ทางด่านฯ จึงได้ติดตามสถานการณ์การเปิด – ปิดด่านฯ จากทูตเกษตร และผู้นำเข้า – ส่งออกอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ส่งออกที่ต้องการนำสินค้ากลับเข้ามาในประเทศ และให้คำแนะนำ อำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนเส้นทาง และเข้มงวดในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน Covid-19 เช่น ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทั้งสินค้า ตู้สินค้า ณ โรงคัดบรรจุ และจุดตรวจสินค้า อีกทั้ง ติดตามสถานการณ์ข่าวสารการทดลองใช้เส้นทางรถไฟจีน – ลาว จากทูตเกษตรและผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด.