‘รมช.มนัญญา’ ตรวจเยี่ยมชมความสำเร็จการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกาแฟอะราบิกา ศูนย์เกษตรที่สูงฯ เชียงราย

วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2565 รมช.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกาแฟอะราบิกา สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านปางขอน จังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ กลุ่มเกษตรกรบ้านปางขอน สถานีพัฒนาเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านปางขอน ต.ห้วยชมพู อ.เมือง จ.เชียงราย ว่า ประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การปลูกกาแฟ และมีความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม สามารถปลูกกาแฟได้ทั้งพันธุ์อาราบิก้าในพื้นที่ภาคเหนือ และพันธุ์โรบัสต้าในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ถ่ายทอดความรู้ด้านกาแฟแก่เกษตรกร ให้สามารถลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติจริง เพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาคุณภาพของกาแฟไทยที่จะออกสู่ตลาดทั้งในประเทศและอาเซียน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย กรมวิชาการเกษตร ได้วางแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกาแฟอะราบิกาโดยจัดทำแปลงต้นแบบการฟื้นฟูสภาพต้นกาแฟอะราบิกาที่มีอายุมาก จำนวน 2 ไร่ จัดทำแปลงขยายพันธุ์มะคาเดเมีย จำนวน 5 ไร่ ใช้เป็นพืชร่มเงา การฝึกอบรมการผลิตกาแฟอะราบิกาที่ถูกต้องและเหมาะสม ดำเนินกิจกรรมผลิตต้นพันธุ์กาแฟอะราบิก้าพันธุ์เชียงใหม่ 80 จำนวน 4,000 ต้นต่อปี และผลิตต้นพันธุ์มะคาเดเมีย จำนวน 2,000 ต้นต่อปี ใช้เป็นพืชร่มเงากาแฟ สนับสนุนให้กับเกษตรกรที่ผ่านการฝึกอบรมเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับผลการดำเนินงาน การปลูกกาแฟอะราบิก้าพันธุ์เชียงใหม่ 80 พบว่า มีผลผลิตกาแฟกะลา จำนวน 132 ตัน ในปี 2554 และเพิ่มเป็น 383 ตัน ในปี 2561 คิดเป็นรายได้ จากการจำหน่ายกาแฟ 59.9 ล้านบาท เกษตรกรมีรายได้จากการปลูกกาแฟเฉลี่ย 275,440 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ซึ่งเมื่อเทียบในปี 2545 ก่อนเริ่มโครงการเกษตรกรมีรายได้ครัวเรือนเพียง 50,000 บาทต่อครัวเรือน ต่อปี

ทั้งนี้ ความสำเร็จของโครงการฯ ได้เป็นต้นแบบขยายผลสู่พื้นที่อื่นของภาคเหนือตอนบน ปี 2565 เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในพื้นที่ดำเนินงานของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ บ้านปางขอน ได้รับการรับรองแหล่งผลิตดีที่เหมาะสม (GAP) ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 9001-2556 ได้จำนวน 95 ราย 95 แปลง พื้นที่ได้รับการรับรอง 1,170 ไร่
แผนการดำเนินงานต่อไป ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย มีแผนสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาการผลิตกาแฟสู่ระดับพรีเมี่ยม โดยใช้ชุดเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร ครอบคลุมตั้งแต่การปรับปรุงการเขตกรรม การใช้ดัชนีการเก็บเกี่ยวกาแฟ เทคโนโลยีการหมักกาแฟ เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์เก็บรักษากาแฟ เทคโนโลยีการคั่วกาแฟลดสารพิษ เทคนิคการคัดเกรดกาแฟ รวมทั้งการประเมินคุณภาพกาแฟเพื่อยกระดับคุณภาพและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์กาแฟของเกษตรกรต่อไปในอนาคต

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เทศกาลอาหารเชียงราย 2568
4-5 ม.ค.นี้ | ชวนเที่ยวงาน “Coffee or Tea ฮับชาหรือกาแฟดีจ้าว”
เริ่มพรุ่งนี้ | “Charming of Wawee 2024” งานเสน่ห์วาวี แหล่งชาดี ถิ่นกาแฟดัง (วันที่ 15-17 พ.ย.2567) สายคนรักชาและกาแฟ ที่ต้องห้ามพลาด!
คนรักกาแฟ ต้องห้ามพลาด!.. เทศกาลกาแฟล้านนาตะวันออก “สวรรค์ของเมืองกาแฟ” (Eastern Lanna Coffee Fest 2024)
เที่ยวเชียงรายหน้าฝน “ดอยแม่สลอง” บรรยากาศฮีลใจสุดๆ
“อาดัม (Adam)” เมนูรองชนะเลิศอันดับ 2 ในงาน เทศกาลชาและกาแฟ ประจำปี 2566