16 มีนาคม 2565 ที่วัดศาลาเชิงดอย ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย ประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วย นายพินิจ แก้วจิตคงทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ประธานฝ่ายฆราวาส และ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ นำคณะศรัทธา พุทธศาสนิกชน ร่วมเดินจาริกแสวงบุญ “เตียวขึ้นดอย ตวยฮอยครูบา ไหว้สาพระธาตุดอยตุง”

เริ่มจากวัดศาลาเชิงดอย จนถึงวัดพระธาตุดอยตุง รวมระยะทาง 9 กิโลเมตร โดยผู้ร่วมกิจกรรมที่เดินตามเส้นทางจาริกแสวงบุญ จนถึงลานวัดพระธาตุดอยตุง จะได้รับมอบวัตถุมงคล เหรียญที่ระลึก “2004 ปีสืบมา หกเป็งล่องฟ้า ไหว้สาพระธาตุดอยตุง” รุ่นที่ 6 ออกแบบโดยอาจารย์ทรงเดช ทิพย์ทอง ศิลปินชาวเชียงราย ด้านหนึ่งเป็นรูปพระธาตุดอยตุง อีกด้านหนึ่งเป็นรูปพระเศรษฐีนวโกฏิ พร้อมได้รับเกียรติบัตร ลงนามโดย พระเดชพระคุณพระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย และ นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย อีกทั้งผู้ร่วมกิจกรรมได้รับการคัดกรอง วัดอุณหภูมิร่างกาย และสวมหน้ากากอนามัย ตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่บาดของเชื้อไวรัสโคโรนา – 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด


งานประเพณีนมัสการและประเพณีสรงน้ำพระธาตุดอยตุง เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน จวบจนถึงปัจจุบัน ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 หรือเดือน 6 เหนือของทุกปี ซึ่งชาวล้านนาเรียกว่าวันเดือนหกเป็ง จนเป็นพิธีสำคัญและเป็นประเพณีประจำจังหวัดเชียงราย และในวันนี้ นอกจากมีกิจกรรมเดินจาริกแสวงบุญแล้ว ยังมีพิธีตักน้ำทิพย์ พิธีเจริญพระพุทธมนต์สมโภช เทศน์สวดเบิก เพื่อเป็นการเสริมสิริมงคลตามความเชื่อของชาวล้านนา








พระธาตุเจ้าดอยตุง มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “พระมหาชินธาตุเจ้าดอยตุง”เมื่อแรกสร้างได้มีการปักธงผืนใหญ่ไว้บนยอดดอยคู่กับเจดีย์ ตำนานพระธาตุเจ้าดอยตุงเล่าว่า เมื่อพุทธศักราช 561 พระมหากัสสปะเถระ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) มามอบให้พระญาอชุตราช ราชวงศ์สิงหนวัติ ผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธุ์ ประดิษฐาน ณ ดอยดินแดง หรือ ดอยตุง เป็นองค์พระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีกุน คือปีหมู หรือกุญชร คือปีช้างตามความเชื่อของชาวล้านนา