ขณะที่เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพได้ออกมาตั้งโต๊ะทวงถามความคืบหน้ารื้อถอน “บ้านป่าแหว่ง” ของศาลอุทธรณ์ภาค 5 เชียงใหม่ ที่ผ่านมาเกือบ 4 ปี ทุกอย่างยังนิ่งสนิท บ้านพัก 45 หลังและอาคารชุด 9 หลังอยู่ครบ แถมมีคนเข้าพักอาศัยเพิ่ม โดยทางธนารักษ์ไม่ยอมรับคืนพื้นที่ อ้างไม่มีกฎหมายรองรับในส่วนของครุภัณฑ์ จนมองกันว่ามีความพยายามจะดึงเรื่องให้ยืดเยื้อและต้องการใช้ประโยชน์ต่อไปนั้น
ในส่วนของโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 พร้อมที่พักอาศัยและสิ่งก่อสร้างประกอบ บนถนนหมายเลข 1211 สายเด่นห้า-ดงมะดะ พื้นที่หมู่บ้านหนองแสล๊บ ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย แทนบ้านป่าแหว่ง เชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ซึ่งสัญญาก่อสร้างจะสิ้นสุดลงในวันที่ 7 ก.ย. 2565 นี้แล้ว แต่ ณ ขณะนี้ (23 มี.ค. 65) ภายในพื้นที่ก่อสร้างมีเพียงการถมปรับที่ดินที่แล้วเสร็จ ขณะที่อาคารต่างๆ ไม่พบมีการก่อสร้างเพิ่มเติมใดๆ
โดยอาคารหลักหลังที่ตั้งอยู่ส่วนกลางและก่อสร้างคืบหน้ามากกว่าหลังอื่นๆ พบว่ามีเพียงการขึ้นฐานราก-โครงเหล็กเส้น และพบโครงเหล็กเส้นสำหรับสร้างฐาน เสาและคานวางอยู่ทั่วพื้นที่โดยไม่มีการก่อสร้างเพิ่มเติมมากนักทำให้หลายจุดมีหญ้าขึ้นรกเต็ม ส่วนบริเวณก่อสร้างยังพบมีเครื่องจักรและคนงานอยู่ภายในน้อยมาก ด้านหน้าทางเข้า-ออกมีเพียงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ดูแลการเข้าออกอย่างเข้มงวด
จนเป็นที่น่าสงสัยต่อผู้ที่พบเห็นว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จตามกำหนดสัญญาหรือไม่ เนื่องจากเหลือระยะเวลาอีกเพียงประมาณ 5 เดือนเท่านั้น
ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างท้องถิ่นรายหนึ่งกล่าวว่าโครงการนี้มีการจัดซื้อจัดจ้างมาจากส่วนกลางและมีเอกชนที่รับช่วงก่อสร้างต่อ ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเอกชนรายใดเป็นตัวหลัก แต่ดูจากสภาพการก่อสร้างในขณะนี้เชื่อว่าอาจจะสร้างไม่แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดค่อนข้างแน่นอน
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า โครงการนี้มีสำนักงานศาลยุติธรรม ถนนรัชดาภิเษก แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ออกแบบและจัดซื้อจัดจ้าง และมีกิจการร่วมค้าเอสที-แมกซ์เอนส์-ไทยพารากอน-ทีดับบลิว ตั้งอยู่เลขที่ 11/9 ถนนกาญจนาภิเษก แขวงคันนายาว เขตคันนายาว กรุงเทพฯ เป็นผู้รับจ้าง ตามสัญญาจ้างเลขที่ 2/2563 ลงวันที่ 8 ต.ค. 2562 วงเงินก่อสร้าง 737,318,000 บาท วันเริ่มต้นสัญญา 24 ต.ค. 2562 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 7 ก.ย. 2565 นี้ รวมระยะเวลาก่อสร้าง 1,050 วัน
สถานที่ก่อสร้างมีเนื้อที่ประมาณ 42-3-00 ไร่ เดิมเคยอยู่ในความดูแลของศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย กรมวิชาการเกษตร ซึ่งพัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ ประมาณ 20 ไร่ และสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จ.เชียงราย กรมส่งเสริมการเกษตร อีกประมาณ 20 ไร่ เนื่องจากทั้ง 2 หน่วยงานมีพื้นที่ติดกันจึงได้จัดแบ่งพื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงการอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 พร้อมที่พักอาศัยและสิ่งก่อสร้างประกอบดังกล่าว