พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ

คนไทลื้อ บ้านศรีดอนชัย

   เชียงของเป็นอีกหนึ่งอำเภอที่มีคนไทลื้ออาศัยอยู่จำนวนมาก ไทลื้อเป็นชาติพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์ทางด้านภาษาและศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่งดงามปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายที่มีความโดดเด่นด้วยผ้าฝ้ายที่มีลักษณะเฉพาะด้วยการทอผ้าเป็นลวดลายอันวิจิตรทรงคุณค่าในศิลปะแบบไทลื้อ ที่สืบทอดกันมาช้านาน

   แม้นว่าปัจจุบันหลายสิ่งจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วตามกระแสโลก ทั้งในด้านการดำเนินชีวิต ศิลปวัฒนธรรม เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวัน ทำให้มรดกวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าในอดีตหลายอย่างถูกกลืนหาย แต่ทว่าวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ ที่บ้านศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย ยังไม่หมุนไปตามกาลเวลาทั้งหมด

จากสิบสองปันนามาถึงศรีดอนชัย กับศิลปะลวดลายบนผืนฝ้า ที่มีคุณค่าดุจทองคำ ของชาวไทลื้อ บ้านศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย ที่ถูกเก็บรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ คุณสุริยา วงค์ชัย ลูกหลานไทลื้อรุ่นปัจจุบัน ที่อยากให้มรดกวัฒนธรรมผ้าทอไทลื้อ สืบทอด สานต่อ ไปยังรุ่นต่อไป โดยใช้บ้านไม้ 2 ชั้น ทรงเก่าๆจัดสร้างเป็นพิภัณฑ์หลังนี้ขึ้นมา เพื่อเก็บรักษาข้าวของเครื่องใช้ไว้ เริ่มจากประตูทางเข้าชั้นล่างสุด เป็นชั้นที่เก็บประวัติเรื่องราว การกล่าวขาน การต่อสู้การ อพยพต่างๆ ของชาวไทลื้อในอดีต เมื่อเดินขึ้นไปชั้นบน มีหุ่นจัดแสดงเครื่องแต่งกายไทลื้อแบบต่างๆ ผ้าทออันมีคุณค่า ที่ต้องใช้เวลาในการเก็บรวมรวม มาให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ เครื่องประดับของมีค่า จำลองวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทลื้อ ดูแล้วมีมนต์ขลังเหมือนพาตัวเองเข้าไปอยู่ในบ้านหลังนั้นจริงๆ

พิพิธภัณฑ์ ลื้อลายคำ …

ของไร้ค่าสำหรับใครบางคน กลับเป็นของมีคุณค่าไม่สามารถประเมินราคาได้ พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำสร้างขึ้นมาจากการรักและหวงแหนของคนไทลื้อในพื้นที่อย่าง สุริยา วงค์ชัย เด็กหนุ่มผู้ที่มีแนวคิดอยากจะเก็บรักษาศิลปะทรงคุณค่าของบรรพบุรุษไว้ ปัจจุบันได้เปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ด้านชาติพันธุ์ต่างๆใน อ.เชียงของ เมื่อเดินผ่านประตูไม้เข้าไปยังตัวบ้าน จะได้กลิ่นอายของความเก่า ความขลังของข้าวของเครื่องใช้โบราณ ที่นำมาจัดแสดงไว้ตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะผ้าทอลวดลายต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ไทลื้อ 

ถัดต่อไป เป็นส่วนกลางของพื้นที่พิพิธภัณฑ์ ใช้เป็นลานแสดงกิจกรรม เมื่อยามมีนักท่องเที่ยวมาเยือน  ที่นี่ก็จะเปลี่ยนบรรยากาศให้ย้อนอดีตไปเหมือนร้อยกว่าปีก่อน ชาวบ้านจะแต่งกายด้วยชุดไทลื้อ ออกมาปั่นฝ้ายทอผ้า ฟ้อนรำของหนุ่มสาว ในแบบของคนไทลื้อให้นักท่องเที่ยว ปัจจุบันที่นี่จะเปิดแสดงให้เฉพาะมีงานหรือเทศกาลสำคัญ เท่านั้น ไม่ได้มีให้ชุมทุกวัน ใครสนใจจะมาเยี่ยมชมศิลปะการแสดง ต้องติดต่อล่วงหน้า 

ส่วนด้านหลังสุดของพิพิธภัณฑ์ ตอนนี้ทำเป็นร้านกาแฟ ในภาษาไทลื้อ ” ซังวา คาเฟ่ ”   เป็นคาเฟ่ ที่นำศิลปะไทลื้อมาประยุกต์ ออกแบบร้านได้อย่างลงตัว สร้างบรรยากาศเหมือนได้นั่งจิบกาแฟอยู่ในบ้านไทลื้อโบราณ ด้านหน้ามีระเบียงยื่นออกไป มองเห็นวิว เปิดโล่งกว้าง ถ้ามายามบ่ายๆ ในช่วงฤดูทำนา ก็จะเห็นบรรยากาศนาข้าวสวยๆ …  ซังวา เป็นทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนของไทลื้อ แปลว่า ” อะไร ”  ด้วยว่ามันคล้องจองกับคาเฟ่ และดูแปลกจึงเป็นที่มาของชื่อร้าน ซังวา คาเฟ่  นั่นเอง…

จุดสุดท้าย ต้องเดินตามทางลงไปด้านล่าง จะเป็นสะพานไม้ไผ่ ทอดยาวราวๆ 100 เมตร ลงไปกลางทุ่งนา มีชื่อบอกไว้เป็นภาษาไทยลื้อ “โขมาอีเก้อ” ให้นักท่องเที่ยวเดินลงไปถ่ายรูป ชมวิว 

..โข แปลว่า สะพานไม้ มา คือ หมา อีเก้อ คือ รอเก้อ รวมกันแล้ว สะพานหมารอเก้อ เจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่า เดิมทีพื้นที่บริเวณนี้มันเป็นหนองน้ำ และมีหมาอยู่ตัวหนึ่งที่มารอคู่อยู่สะพานไม้นี้ทุกวัน แต่ไม่เจอสักที พอได้ทำสะพานไม้ไผ่ลงไปกลางทุ่งนา ก็เลยนำเรื่องราวนี้มาตั้งเป็นชื่อสะพานไม้

ทุกอย่างของที่นี่ถูกจัดวาง เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับชาวไทลื้อได้อย่างตัว ถ้าใครอยากย้อนรอยอดีตวันวานแบบไทลื้อ ต้องไม่พลาดทีพิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ บ้านศรีดอนชัย

ข้อมูลติดต่อพิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ คุณสุริยา วงค์ชัย เบอร์โทร 089-8385724

ารเดินทาง
ถ้าจากเชียงของมาทาง อ.เทิง จะอยู่ช่วงหมู่บ้านศรีดอนชัย ก่อนวัดท่าบ้านศรีดอนชัยประมาณ 1 กม. อยู่ติดถนนใหญ่
พิกัดแผนที่ google :  20.149636,100.412352

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
9-10 พ.ย.67 | ชวนสัมผัสวัฒนธรรมไทลื้อ ในงาน “ทอสายบุญ จุลกฐิน ถิ่นไทลื้อโบราณ” ณ วัดหาดบ้าย อ.เชียงของ
ทุกเสาร์-อาทิตย์ | ถนนคนเดินเมืองเชียงของ “ChiangKhong Street Market” เริ่ม 2 พ.ย.นี้
ต่อใบขับขี่ ต่อทะเบียนรถ ที่ อ.เชียงของ ได้แล้ว!
แม่น้ำโขงที่เปลี่ยนไป กับโครงการวิจัยเพาะเลี้ยงปลากระเบนน้ำจืดแห่งแรกของเชียงราย
พาณิชย์ฯเชียงราย ร่วมพิธีเปิดงาน “เฮือนหูก หัตกรรมผ้าไหมไทยลื้อ” เชื่อมโยงงานผ้าร่วมกับประเทศลาว
เริ่มพรุ่งนี้ | งานมหกรรมของกิ๋นลำและของดีเมืองเจียงของ ครั้งที่ 17 (17th Chiangkhong Food Fair Festival)