มฟล.ร่วมกับจังหวัดเชียงราย ผลักดันจัดทำแผนพัฒนาเชียงรายเป็นเมืองแห่งสุขภาพ หรือ Chiang Rai Wellness City

เชียงรายเมืองแห่งสุขภาพ Chiang Rai Wellness City

22 มิถุนายน 2566 ณ ห้องประชุมประจวบ ภิรัมย์ภักดี โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ผศ.ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ หัวหน้าสํานักงาน จ.เชียงราย ร่วมกันเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “จัดทำแผนพัฒนาเชียงรายเป็นเมืองแห่งสุขภาพหรือ Chiang Rai Wellness City” โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 150 คน ประกอบด้วยคณะทำงานขับเคลื่อนเชียงรายเป็นเมืองแห่งสุขภาพ (Chiang Rai Wellness City) ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนผู้ประกอบการในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง กิจกรรมจัดให้ ดร.ระวิวรรณ์ เจริญทรัพย์ ผู้อํานวยการศูนย์บริการสุขภาพแบบครบวงจรแห่งภาคเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ําโขง (MFU WELLNESS CENTER) มฟล.จัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อนำไปยกร่างเป็นแผนปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

โดยในช่วงเช้าของกิจกรรมเป็นการบรรยายพิเศษเรื่อง “การขับเคลื่อนเชียงรายเป็นเมืองแห่งสุขภาพหรือ Chiang Rai Wellness City” โดยนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตรย์ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายพุฒิพงศ์กล่าวถึงความพร้อมของจังหวัดเชียงรายทางด้านเศรษฐกิจ การค้าชายแดน ศิลปะวัฒนธรรม การคมนาคม และพื้นที่ด้านภูมิศาสตร์ของเชียงราย ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ถือเป็นองค์กรที่ได้ขับเคลื่อนโดยมีเป้าหมายด้านการดูแลสุขภาพอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านอาจยังขาดการได้รับการสนับสนุนหรือผลักดันจากหน่วยงานภาครัฐอย่างเต็มที่ ดังนั้นเมื่อตนได้เข้ามารับตำแหน่งที่ จ.เชียงราย ช่วงปลายปี 2565 เป็นต้นมาจึงได้ผลักดันให้เป็นจังหวัดแห่งสุขภาพหรือ Wellness City และให้ มฟล.เป็นศูนย์กลางเพื่อขยายผลผลออกไปยังวงกว้างทั้งผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป ซึ่งต่างก็จะได้รับประโยชน์ร่วมกันโดยเฉพาะเมื่อมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือน จ.เชียงราย มากขึ้นเพราะมีเรื่องของการดูแลรักษาสุขภาพเป็นจุดขาย สิ่งสำคัญคือเส้นทางคมนาคมหลายด้านกำลังมุ่งสู่ จ.เชียงราย ไม่ว่าจะเป็นรถไฟเด่นชัย-เชียงของ ในปี 2571 และยังมีถนนมอเตอร์เวย์คู่ขนานกับถนนอาร์สามเอเชื่อมเชียงราย-สปป.ลาว-จีน ซึ่งปัจจุบันมีการลงนามในสัญญาว่าจ้างก่อสร้างแล้วคาดว่าจะแล้วสเร้๗ในปี 2568 ซึ่งจะทำให้การเดินทางจากไทย-จีน บนมอเตอร์เวย์นี้ใช้ระยะเวลาเพียงประมาณ 2 ชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้นการเตรียมการรองรับเพื่อเป็น Wellness City ในครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งและเป็นที่น่ายินดีที่มี มฟล.ซึ่งคงจะต้องนำผลงานวิจัยที่ได้มาชยายผลและคอยเป็นพี่เลี้ยงให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในฐานะศูนย์กลางของ Chiang Rai Wellness City ต่อไป

ในส่วนของภาคบ่ายเป็นการประชุมย่อยระดมความคิดเห็นเพื่อยกร่างแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนเชียงรยเป็นเมืองแห่งสุขภาพ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระวิวรรณ์ เจริญทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการสุขภาพแบบครบวงจรแห่งภาคเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มฟล. พร้อมด้วยอาจารย์ ดร.พนม วิญญายอง สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง. เข้าร่วมประชุมสัมนาครั้งนี้ ซึ่งในช่วงท้ายของกิจกรรมจะเป็นการนำเสนอและสรุปผลการระดมความคิดเห็นการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนเชียงรายเป็นเมืองแห่งสุขภาพ (Chiang Rai Wellness City)

ทางด้าน ผศ.ดร.มัชฌิมา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีความพร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนของจังหวัดในการให้เป็นพื้นที่พิเศษในการพัฒนาอุตสาหกรรม Wellness โดยมีความพร้อมด้านบุคลากรและมีศาสตร์การแพทย์ที่สามารถบูรณาการในแต่ละสำนักวิชาที่เปิดทำการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี ได้แก่ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ สำนักวิบชาทันตแพทยศาสตร์ สำนักวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟิ้นฟูสุขภาพ สำนักวิชาแพทยบูรณาการ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งมีทั้งการแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนจีน กายภาพบำบัด ฯลฯ.

ในส่วนของภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยว นายวิโรจน์ ชายา นายกสมาคมโรงแรม จ.เชียงราย กล่าวว่า ช่วงเดือน มี.ค.-ก.ย.ของทุกปี เป็นช่วงโลว์ซีซัน มีนักท่องเที่ยวน้อย ซึ่งเดิมจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาทดแทน แต่ปีนี้นักท่องเที่ยวชาวจีนหายไปเกือบหมด มีเฉพาะช่วงต้นปีที่นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาด้วยรถยนต์เป็นคาราวานเข้ามาทางถนนอาร์สามเอ อ.เชียงของ จ.เชียงราย และเส้นทางอื่นๆ สาเหตุเพราะสายการบินที่เคยเชื่อมระหว่าง จ.เชียงราย ไปยังเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน เชียงราย-ฉางชา เชียงราย-ฮ่องกง ได้ยุติทำการบินกันไปหมด ดังนั้นจึงหวังว่าผู้เกี่ยวข้องจะช่วยผลักดันเพื่อให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมา ส่วนกรณีของ Chiang Rai Wellness City ตนเชื่อว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ซึ่งภาคเอกชนก็จะได้จัดทำเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การจัดทริปทัวร์ที่มีแวะไปตรวจสุขภาพแล้วไปเที่ยว-ฟังผลก่อนกลับ ฯลฯ ซึ่งก็คงต้องเสนอให้มีการอำนวยความสะดวกและกระชับเวลาให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวด้วย

นอกจากนี้ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการออกบูธสุขภาพดี ประกอบด้วย

1.แนะนำบริการตรวจเช็คสุขภาพประจำปีและให้ปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพ
2.บูธงานชะลอวัย ให้บริการตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบร่างกาย Bioelectrical Impedance Analysis (BIA) และแนะนำโปรแกรมการให้บริการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย
3.คลินิกความงาม แนะนำโปรแกรมหัตถการความงาม เลเซอร์รักษาสิว ฝ้า กระ จุดด่างดำ รักษารอยแผลเป็น กำจัดขนถาวร โปรแกรมยกกระชับผิว ลดริ้วรอย ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ยูเซอรีน M – skin
4.งานโภชนาการ ประเมินภาวะโภชนาการ แนะนำหลักการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและเชิญชิมตัวอย่างอาหาร energy bar สูตรพิเศษ
5.การบริการวิชาการและฝึกอบรม แนะนำโปรแกรมวิชาการประจำปี
6.การจัดแสดงผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากศูนย์สมุนไพร 7.บูธประชาสัมพันธ์หลักสูตร Creative Wellness มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง