ประวัติ – เชียงราย …. เป็นจังหวัดที่อยู่เหนือสุดของประเทศไทย เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยเชียงแสน เมื่อพญามังรายได้ทรงรวบรวมหัวเมืองฝ่ายเหนือในอาณาเขตรอบ ๆ ได้แล้วจึงทรงกรีฑาทัพไปแสดงฝีมือในการยุทธต่อหัวเมืองฝ่ายใต้ลงมา จึงได้ไปรวมพลเมืองลาวกู่เต้า และหมอควาญได้นำช้างมงคลของพญามังรายไปทอด (ผูก) ไว้ในป่าหัวดอยทิศตะวันออก พลัดหายไป พญามังรายจึงได้เสด็จติดตามรอยช้างไปจนถึงดอยทองริมแม่น้ำกกนัทธีได้ทัศนาการเห็นภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม อุดมสมบูรณ์เป็นชัยภูมิที่ดีจึงได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นในที่นั่นให้ก่อปราการโอบเอาดอยจอมทองไว้ในท่ามกลางเมือง ขนานนามเมืองว่า “เวียงเชียงราย” ตามพระนามของพญามังรายผู้สร้าง เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 1805
พ่อขุนเม็งรายมหาราช หรือ พญามังรายมหาราช
ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย ผู้สถาปนาเมืองเชียงรายเป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ. 1805
พระองค์เป็นราชโอรสของพระเจ้าลาวเมงแห่งราชวงศ์ ลั๊วจังกราชผู้ครองหิรัญนครเงินยาง กับพระนางอั้วมิ่งจอมเมืองหรือพระนางเทพคำขยาย ราชธิดาของท้าวรุ่งแก่นชายเจ้าเมืองเชียงรุ้ง พระองค์ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ แรม 9 ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุนเอกศกจุลศักราช 601 ตรงกับพุทธศักราช 1781 และสวรรคตขณะเสด็จประพาสกลางเมืองเชียงใหม่ โดยถูกอสุนีบาตตกต้องพระองค์เมื่อปี พ.ศ. 1860 รวมพระชนม์มายุได้ 80 พรรษา
- ตี้สวรรคตของพญามังราย ณ เวียงเจียงใหม่
- แผนภูมิราชวงศ์มังราย
- ประวัติศาสตร์ล้านนา ประวัติศาสตร์โลก
- กำแพงเมืองเชียงราย
งานพ่อขุนเม็งรายมหาราชและงานกาชาด ประจำปี 2567
วันที่ 26 ม.ค. – 5 ก.พ.2567 ณ บริเวณสนามบิน ฝูงบิน 416 เชียงราย (สนามบินเก่า) อำเภอเมืองเชียงราย
ซึ่งในปี 2567 นี้ จังหวัดเชียงรายจะมีอายุครบรอบ 762 ปี (ในวันที่ 26 มกราคม 2567) จึงได้ร่วมเฉลิมฉลอง “การจัดงานพ่อขุนเม็งรายมหาราชและงานกาชาด ประจำปี 2567” กำหนดให้มีการประกวดการแสดง ณ เวทีกลาง ระหว่างวันที่ 26 มกราคม 2567 ไปจนถึง 5 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นเวลา 10 วัน 10 คืน ที่บริเวณสนามบิน ฝูงบิน 416 เชียงราย (สนามบินเก่า) อำเภอเมืองเชียงราย และมีพิธีทางศาสนา พิธีกรรมตามจารีตประเพณี และกิจกรรมที่แสดงออกถึงความร่วมมือของชาวเชียงราย
- การจัดการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งประเภทกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ภริยา และประเภทบริหาร สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการ และพนักงาน
- การประกวดดนตรีนักเรียน/นักศึกษา
- การประกวดรำวงย้อนยุค
- การประกวดแสงสี To Be Number One
- การประกวดธิดาดอย
- กิจกรรมเดินแบบผ้าไทย
- การจัดทำและจำหน่วยพวงมาลัย ดอกไม้ ลูกโป่งในการประกวดบนเวทีกลาง
- ฯลฯ
- เตรียมพบกับ “งานพ่อขุนเม็งรายมหาราช และงานกาชาดประจำปี 2567” จัดใหญ่ จัดเต็ม จัดที่เดิม เพิ่มเติมความมันส์
- จำหน่าย “สลากกาชาดการกุศล” ในงานพ่อขุนเม็งรายมหาราช และงานกาชาดประจำปี 2567
…
*กำหนดกิจกรรม ในวันที่ 26 มกราคม 2567
- เวลา 07.30 น. พิธีสักการะพระบรมอัฐิพ่อขุนเม็งรายมหาราช และพิธีห่มผ้าพระสถูปพ่อขุนเม็งรายมหาราช ณ วัดดอยงำเมือง
- เวลา 09.00 น. พิธีบวงสรวง และทำบุญเมืองเชียงราย ณ อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช (ห้าแยกพ่อขุน) พร้อมกันในเวลาเดียวกันนี้กับอีก 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ อำเภอเทิง อำเภอพาน และอำเภอแม่สรวย
- ซึ่งหลังเสร็จพิธี จะมีการฟ้อนเมืองปูจาไหว้สาพญามังราย ณ อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช (ห้าแยกพ่อขุน) โดยนางรำมากว่า 762 คน
- เวลา 14.15 น. พิธีไหว้สาพญามังราย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และนายอำเภอทั้ง 18 อำเภอถวายเครื่องสักการะ
- ต่อด้วยขบวนแห่ เฉลิมฉลองครบรอบ 762 ปี เมืองเชียงราย ซึ่งจะเคลื่อนขบวนไปตามเส้นทางผ่านสวนตุงและโคม เลี้ยวซ้ายแยกศาล เข้าสู่แยกประตูสลี เลี้ยวขวาผ่านหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ และเลี้ยวซ้ายแยกบรรพปราการ (แยกวัดมิ่งเมือง) มุ่งหน้าสู่ฝูงบิน 416 (สนามบินเก่า) เพื่อจัดพิธีเปิดงานพ่อขุนเม็งรายมหาราชและงานกาชาด ประจำปี 2567
- และร่วมกันเฉลิมฉลองครบรอบ 762 ปี เมืองเชียงราย โดยการกดปุ่มเปิดไฟให้สว่างไสวทั่วทุกมุมเมือง และสถานที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย
พร้อมเปิดงานอย่างเป็นทางการ พร้อมกัน 3 จุด ได้แก่
- บริเวณงานพ่อขุนฯ (สนามบินเก่า) โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย
- ณ วัดร่องเสือเต้น โดยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย
- ณ บริเวณ อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช (ห้าแยกพ่อขุน) โดยนายกเทศมนตรีนครเชียงราย