เชิญชมดอกทานตะวันสวยๆ ในงาน “3 โป่งชื่นบานทานตะวันบานที่บ้านเรา” เนื่องในพิธีจัดงาน “ฟังธรรมปลาช่อนขุนน้ำห้วยโป่ง”

เที่ยวงาน 3 โป่งชื่นบานทานตะวันบานที่บ้านเรา เนื่องในพิธีจัดงานฟังธรรมปลาช่อนขุนน้ำห้วยโป่ง

เที่ยวชมทุ่งทานตะวันสวยๆ ในงาน ” 3 โป่งชื่นบานทานตะวันบานที่บ้านเรา ” เนื่องในพิธีจัดงานฟังธรรมปลาช่อนขุนน้ำห้วยโป่ง โดยความร่วมมือร่วมใจจากชุมชนบ้านโป่งทั้ง 3 หมู่บ้าน ( หมู่ 1 หมู่ 13 หมู่ 15 ตำบลทุ่งก่อ) และ อบต.ทุ่งก่อ อำเภอเวียงเชียงรุ้ง

จัดงานในวันที่ 21 -22 มิถุนายน 2567 ณ บ้านโป่ง ต.ทุ่งก่อ อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย

พบกับ

  • การแข่งขันบั้งไฟ
  • ร่วมสนุกกับรำวงย้อนยุค รำวงมาตรฐานวงเทเลอร์
  • จำหน่ายอาหารเครื่องดื่มตลอดงานทั้ง 2 วัน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 083-153-2009 (อบต.บรรเจิด)

รายละเอียดการสมัครแข่งขันบั้งไฟ วันที่ 21-22 มิถุนายน 2567

สถานที่จัดงาน : บ้านโป่ง เข้าได้ทั้งซอย 8 และซอย 9 ตำบลทุ่งก่อ อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย

พิกัด : สถานที่จัดงาน 3 โป่งชื่นบาน https://maps.app.goo.gl/NazTnNto8P4Tek286?g_st=i

.

ฟังธรรมปลาช่อน

ข้อมูลจาก : มัจฉชาดก : ที่มาของพิธีฟังธรรมพระยาปลาช่อนเพื่อขอฝน

โดย ดร.วกุล มิตรพระพันธ์ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการ กลุ่มภาษาและวรรณกรรม สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

พิธีฟังธรรมพระยาปลาช่อนเพื่อขอฝน

การฟังธรรมปลาช่อน

ผู้เขียน : อักขณิช / นาย อักขณิช ศรีดารัตน์

พิธี “ฟังธรรมปลาช่อน” พิธีกรรมนี้ถือว่าเป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยประเพณีฟังธรรมปลาช่อนนี้ ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดขึ้นทุกปีเพื่อ”ขอฝน” บูชาผีขุนน้ำหรือบูชาสายน้ำที่ได้ประทานความชุ่มชื้น และความอุดมสมบูรณ์มาให้กับชุมชนตลอดทั้งปี เป็นการสืบชะตาให้กับสายน้ำ แสดงความกตัญญูต่อสายน้ำที่ได้หล่อเลี้ยงชีวิตให้กับชาวชุมชน และเพื่อช่วยกันอนุรักษ์สายน้ำต่างๆ ให้มีความสะอาดบริสุทธิ์และอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนตลอดไป


การฟังธรรมปลาช่อน เป็นประเพณีหรือวัฒนธรรมท้องถิ่นของล้านนา ซึ่งมีการสืบทอดต่อๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ซึ่งปัจจุบันนี้เริ่มหาดูได้ยากเต็มที ทั้งนี้ พิธีกรรม “ขอฝน” นั้น มีอยู่ในทุกภาคของประเทศไทย เพียงแต่อาจจะเรียกชื่อต่างกันและมีรูปแบบพิธีกรรมที่แตกต่างกันออกไป เช่น พิธีแห่นางแมว พิธีสวดขอฝน และประเพณีแห่บั้งไฟ เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่มีความเกี่ยวข้องกับการขอฝนหรือดินฟ้าอากาศทั้งสิ้น

อาจารย์ สนั่น ธรรมธิ  แห่งสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ได้กล่าวถึงประเพณีฟังธรรมปลาช่อนเอาไว้อย่างน่าสนใจ ดังต่อไปนี้ว่า…..

“……ในพิธีกรรมขอฝนตามความเชื่อของชาวล้านนา สิ่งที่นิยมปฏิบัติคือ สวดพระปริตร์ คาถาขอฝนและคาถามหาเมฆ ตามด้วยการแสดงพระธรรมเทศนา เรื่อง “พญาปลาช่อน” หรือชื่อเต็มคือ “มัจฉาพญาปลาช่อน” ซึ่งเป็นหัวใจของงาน

พระธรรมเทศนาดังกล่าว เป็นคัมภีร์ประเภทชาดก เนื้อเรื่องผูกขึ้นโดยมีพญาปลาช่อนเป็นตัวละครเอก บำเพ็ญสังคหวัตถุธรรมจนสามารถช่วยเหลือบริวารให้รอดพ้นจากภัยแล้งได้สำเร็จ

เรื่องนี้เมธาจารย์ผูกเรื่องไว้ดังนี้ ในครั้งเมื่อพระพุทธองค์ทรงเสวยพระชาติเป็นราชาปลาช่อน ได้ปกครองบริวารปลาทั้งหลายในสระแห่งหนึ่ง ซึ่งแวดล้อมด้วยไม้นานาพันธุ์ ครั้งหนึ่งเกิดภาวะแห้งแล้งไปทั่ว ข้าวกล้าพืชพันธุ์เหี่ยวเฉาตาย น้ำในแหล่งน้ำแห้งขอด เหล่ามัจฉาชาติและสัตว์น้ำถูกบรรดาแร้ง เหยี่ยว กาและนกกระยางโฉบลงมาจิกกินเป็นอาหาร ปลาและสัตว์น้ำต่างได้รับความเดือดร้อน ราชาปลาช่อนเห็นดังนั้นก็ออกมาตั้งจิตอธิษฐาน พร้อมมองขึ้นไปบนท้องฟ้า ประกาศคาถาว่า

“แม้นตนจะเกิดมาในฐานะที่บริโภคสัตว์ด้วยกันก็จริงอยู่ แต่ตนก็มิเคยเบียดเบียนสัตว์ใด ด้วยสัจจะดังกล่าวขอให้ฝนตกลงมา เพื่อสงเคราะห์สัตว์ที่กำลังเดือดร้อนด้วยเถิด”

ด้วยอานุภาพแห่งสัจจาธิษฐาน ทำให้แท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของพระอินทร์ร้อนและแข็งกระด้าง เมื่อพระอินทร์ทราบเหตุก็บัญชาให้เทพบุตรชื่อ วลาหกเทพบุตร ลงมาบันดาลให้ฝนตก โดยห่มคลุมกายด้วยผ้าสีเขียวเหมือนเมฆ ขับเพลงอันมีชื่อ “เมฆคีตะ” ผินหน้าเฉพาะทิศตะวันตก พลันเหล่ามวลเมฆก็แตกเป็นเสี่ยง เกิดเสียงกึกก้องทั่วจักรวาลเกิดเป็นฝนห่าใหญ่เนืองนองทั่วท้องปฐพี

จากเนื้อหาของเรื่อง จึงนิยมนำคัมภีร์นี้มาอ่านแสดงเป็นพระธรรมเทศนาประกอบพิธี ซึ่งพิธีจะประกอบด้วยกิจกรรมโดยสังเขปคือ หาสถานที่ที่เหมาะสม เช่น บริเวณต้นน้ำ ลำธารใหญ่ หรือแม่น้ำที่อยู่ทิศตะวันออกหรือทิศเหนือของหมู่บ้าน ขุดสระจำลองขึ้นโดยให้กลางสระเป็นเกาะสำหรับประกอบพิธี รอบๆ สระมีการขัดราชวัตรประดับธงทิว พร้อมต้นกล้วย อ้อย ข่า ตระไคร้ ใบขิง แกะรูปสัตว์ปีก คือ กา นกกระยาง เหยี่ยว และแร้ง เกาะจับตามกิ่งไม้โดยให้กาอยู่ทิศตะวันออก นกกระยางอยู่ทิศใต้ เหยี่ยวเกาะทิศตะวันตกและแร้งจับกิ่งไม้ทิศเหนือ จัดหาปลาช่อนตัวใหญ่ไว้สองตัว พร้อมสัตว์น้ำนานา อาทิ กุ้ง ปู หอย ไว้จำนวนหนึ่ง

เมื่อถึงวันงาน พระสงฆ์จะเจริญพุทธมนต์บนเกาะกลางสระ จากนั้นพระเถระรูปใดรูปหนึ่ง อ่านคัมภีร์พญาปลาช่อน พระสงฆ์ประพรมน้ำมนต์แล้วปล่อยปลาช่อน และสัตว์น้ำท่ามกลางเสียงฆ้องกลองประโคมไปทั่วอาณาบริเวณ

ด้านรายละเอียดของพิธี แต่ละถิ่นอาจมีข้อปฏิบัติแปลกแยกออกไป บางแห่งมีการเชิญพระอุปคุต บูชาพระปัชชุนเทวบุตรหรือสรงน้ำพระพุทธรูปฝนแสนห่า เป็นต้น คัมภีร์พญาปลาช่อน เป็นคัมภีร์ใบลาน จารด้วยอักษรธรรมล้านนา ปกติเก็บรักษาไว้ในหีบพระธรรม ปีใดเมื่อจะประกอบพิธีขอฝน คัมภีร์ดังกล่าวจะถูกนำมาอ่านในพิธีเสมอมา…..”

ข่าว/ภาพ : เพจ อบต.ทุ่งก่อ เชียงรุ้ง , เพจประชาสัมพันธ์ท่องเที่ยว และซื้อขาย อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย อยู่ที่ บ้านโป่ง เวียงเชียงรุ้ง เชียงราย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ททท. ร่วมกับจังหวัดเชียงราย ส่งท้ายปีด้วยบิ๊กอีเวนต์ถิ่นเหนือ “Lanna Winter Wonderland” สนุกกับ 10 จุดแลนด์มาร์ก เพลิดเพลินกับเหล่าศิลปินแนวหน้า ตื่นตาตื่นใจกับการประดับไฟ สุดอลังการ
อบจ.เชียงราย จัดงานแถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงราย Chiang Rai Flower and Art Festival 2024” ภายใต้แนวคิด “The Magical Garden”
งานแถลงข่าว “1 ทศวรรษ มหัศจรรย์ 10 ชาติพันธ์ุแม่สาย ครั้งที่ 10“
ตารางการแสดงของศิลปิน และการแสดงอื่น ๆ ในงาน “Lanna Winter Wonderland” วันที่ 22 – 30 พ.ย. 67 นี้
มหกรรมวัฒนธรรมชาติพันธุ์ตำบลท่าก๊อ (28-29 ธันวาคม 2567)
29 พ.ย. – 1 ธ.ค.2567 | ขอเชิญร่วมงาน “เทศกาลกินปลาหนองหลวง” อ.เวียงชัย จ.เชียงราย