วันนี้ออกไปเช็คอินกันหรือยัง!! กับ 9 วัดปังๆ ในจังหวัดเชียงราย ลุ้นรับ ART TOY (Limited Edition) จาก ททท.

เช็คอิน 9 วัดสวยในเชียงราย สะสมแต้มบุญกับกิจกรรม “คำ ธรรม นาย”

วันนี้ออกไปเช็คอินกันหรือยัง!! กับ 9 วัดปังๆในจังหวัดเชียงราย เช็คอินสะสมแต้มบุญง่ายๆ ผ่านการสแกน QR Code / ลิงค์ ก็มีสิทธิลุ้นรับ ART TOY (Limited Edition) จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย … แถมยังได้รับโปรโมชั่นพิเศษจากทางร้านอาหารหรือคาเฟ่ที่ร่วมรายการ

สะสมแต้มบุญกับกิจกรรม “คำ ธรรม นาย” ผ่านการแสกน QR Code หรือเข้าลิ้ง https://portals.group/app/index.html

  • เลือกสถานที่แล้วเช็คอินได้เลย …ย้ำ! ต้องอยู่สถานที่นั้นจริงๆ ถึงจะเช็คอินได้นะ
  • เช็คอินแล้ว ลุ้นรับ ART TOY (Limited edition) สุดน่ารักไปได้เลย
  • เช็คอินวัด รับ 3 แต้ม
  • เช็คอินร้านอาหารหรือคาเฟ่ รับ 1 แต้ม พร้อมโปรโมชั่นร้านอาหาร คาเฟ่ (สิทธิมีจำนวนจำกัดเท่านั้น)

….. มาร่วมสนุกกันได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 10 กันยายน 2567…..

.

1. วัดห้วยปลากั้ง

จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ

1. รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมองค์ใหญ่สีขาว: สูงประมาณ 79 เมตร มองเห็นโดดเด่นแต่ไกล

2. พบโชคธรรมเจดีย์: ตึกสูงถึง 9 ชั้น รายล้อมด้วยเจดีย์ขนาดเล็ก 12 องค์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ มากมาย

3. พระอุโบสถ์สีขาว: ทางขึ้นเป็นบันไดนาค อลังการด้วยลวดลายปูนปั้นทั้งหลัง ภายในประดิษฐานองค์พระประธานสีขาว และยังมีลวดลายปูนปั้นบริเวณผนังที่งดงาม

4. สวนร่มรื่น: เหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ

5. วิวทิวทัศน์: สวยงาม สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของภูเขาและท้องทุ่งนา

ประวัติ

วัดห้วยปลากั้ง ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่ยาว อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย เดิมทีเป็นเพียงสำนักสงฆ์เล็กๆ ก่อตั้งโดยพระครูบาอินทร์คำ (หลวงพ่ออินทร์คำ) เมื่อปี พ.ศ. 2486 บนพื้นที่ที่เคยเป็นป่าทึบ ชื่อ “ห้วยปลากั้ง” มาจากสมัยที่มีปลากั้งชุกชุมในลำห้วย

.

2. วัดกลางเวียง

จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ

1.วิหาร : สร้างใหม่เมื่อ พ.ศ. 2534 เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาประยุกต์ บันไดทางขึ้นทำเป็นรูปพญานาคคายจากปากมังกร มีรูปปั้นพญาราชสีห์และตุงกระด้าง 1 คู่

2.พระประธาน : พระประธานปูนปั้น ปางมารวิชัย เดิมเป็นศิลปะสกุลช่างไทขืน ต่อมาได้บูรณะโดยก่อพอกทับองค์เดิม เป็นรูปแบบศิลปะล้านนา ลงรักปิดทองทั้งองค์ เรียกขานนามว่า “พระเจ้าเพชรมงคลมุนี”

3.เจดีย์ : เดิมเป็นพระเจดีย์ปัญจมหาธาตุ พ.ศ. 2539 ได้สร้างพระธาตุช้างค้ำครอบพระเจดีย์ปัญจมหาธาตุ ประดับซุ้มจระนำด้วยพระพุทธรูปจำนวนมาก ฐานเจดีย์มีช้างทรงเครื่องรายรอบ ฐานรองรับองค์ระฆังแปดเหลี่ยม ฐานสูง องค์ระฆังเล็ก

4.เสาสะดือเมือง : ศาลสะดือเมืองเชียงราย สร้างเมื่อ พ.ศ. 2417 สมัยพระยารัตนอาณาเขต (เจ้าอุ่นเรือน) สะดือเมืองเดิมตั้งอยู่ค่อนไปทางตะวันออกเฉียงใต้ของบริเวณวัด ไม่ใช่ที่ตั้งปัจจุบัน มีรูปร่างเป็นสถูปเหมือนลูกฟักทอง มียอดสูงขึ้นไป ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 ศอก สูง 8 ศอก มีการสร้างมณฑปครอบไว้ เดิมมีประเพณีใส่ขันดอกแบบเสาอินทขิลเมืองเชียงใหม่ เริ่มในวันแรม 13 ค่ำ เดือน 8 เหนือ เสร็จเอาวัน ออก 4 ค่ำ เดือน 9 เหนือ เรียก “เดือนแปดเข้า เดือนเก้าออก” หรือ “ประเวณีไหว้ดือเมือง”

ประวัติ

วัดกลางเวียง หรือ วัดจันทโลกกลางเวียง ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงราย เป็นวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมล้านนา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพญาเมงราย กษัตริย์ผู้ก่อตั้งอาณาจักรล้านนา ประมาณปี พ.ศ. 1975 เดิมชื่อว่า “วัดจั๋นตะโลก” เพราะในวัดเคยมีต้นจันทน์แดงขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ ต่อมาเมื่อมีการรังวัดเมืองเชียงรายใหม่ พบว่าวัดแห่งนี้อยู่ใจกลางเมืองพอดี จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดกลางเวียง” และสถาปนา “เสาหลักเมืองเชียงราย” หรือ “สะดือเวียง” ขึ้น ณ บริเวณวัด 

.

3. วัดเชียงยืน

จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ

พระเจ้าสะเปาคำ พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 14 นิ้ว มีความสูงจากฐานองค์พระถึงยอดโมลี 31 นิ้วครึ่ง เป็นพระพุทธรูปศิลปะยูนาน สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีผู้นำพระพุทธรูปสะเปามาถวายให้กับพระสงฆ์วัดเชียงยืนและเรียกชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระเจ้าสะเปาคำ” ตามลักษณะของฐานพระที่คล้ายกับเรือสำเภา

ประวัติ

วัดเชียงยืน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2410 โดยพระครูจันต๊ะ ได้อนุญาตให้สร้างวัดที่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ. 2422 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489 เมื่อ พ.ศ. 2470 พระครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย ได้เดินทางกลับจากการไปบูรณปฏิสังขรณ์ พระมหาธาตุเจ้าดอยตุงได้มาพักวัดเชียงยืน และได้บรรพชาให้แก่เด็กชาย คำหล้า สุภายศ ต่อมาสามเณรคำหล้าได้เริ่มสร้างถาวรวัตถุโดยชักชวนชาวบ้านสร้างเจดีขึ้น 1 องค์ ไว้หลังพระวิหาร ได้รับการคัดเลือกจาก สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้เป็นอุทยานการศึกษาในวัด พ.ศ. 2563 ปัจจุบันมีพระครูประพัฒน์รัตนพงศ์ เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 21

.

4. วัดเจ็ดยอด

จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ

1.เจดีย์เจ็ดยอด: เป็นเจดีย์ทรงระฆังสีขาว ตั้งเรียงรายกันบนฐานเจดีย์ 7 ยอด เจดีย์องค์กลางสูง 26 เมตร ภายในบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า

2.วิหารหลวง: เป็นวิหารหลังใหญ่ของวัด สร้างด้วยสถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย
3.สวนร่มรื่น: เหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ

ประวัติ

พระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรล้านนา หรือก่อนที่พญามังรายจะตั้งเมืองเชียงราย ต่อมาถูกทิ้งร้างภายหลังการรุกรานจากพม่า ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดเจ็ดยอดได้ถูกบูรณปฏิสังขรณ์ พร้อมกับการเดินทางกลับไปสร้างเมืองของคนท้องถิ่นที่อาศัยในพระนครนำโดยพระเจ้ามโหตรประเทศ พระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งในขณะนั้นวัดและพระธาตุอยู่ในสภาพชำรุดผุผัง พระครูบาคันธะคนฺธวํโสจึงชักชวนชาวบ้านให้ช่วยกันบูรณะวัด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2386 เป็นต้นมา วัดเจ็ดยอดได้รับสถานะพระอารามหลวงในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2521

.

5. วัดร่องเสือเต้น

จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ

1.วิหาร: หัวใจสำคัญของวัด โดดเด่นด้วยสีน้ำเงินสดใส ภายในประดิษฐานพระประธานองค์สีขาว ผนังวิหารตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องราวทางพุทธศาสนา

2.ซุ้มประตูโขง: ประตูทางเข้าวัด ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น หลังคาซุ้มประตูมีรูปปั้นนกกระจอกเทศ สัญลักษณ์ประจำวัด

3.หอพระไตรปิฎก: อาคารทรงล้านนาประยุกต์ เก็บรักษาพระไตรปิฎก ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น

4.สวนป่า: พื้นที่สีเขียวร่มรื่น เหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ มีศาลาสำหรับนั่งสมาธิ

5.กุฏิพระ: เรียงรายรอบวัด แต่ละหลังตกแต่งด้วยสีสันสดใส สะท้อนเอกลักษณ์ของศิลปินสล่านก

ประวัติ

วัดร่องเสือเต้น ตั้งอยู่ริมแม่น้ำกก ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย สร้างขึ้นโดย พุทธา กาบแก้ว หรือ สล่านก ศิลปินท้องถิ่นชาวเชียงราย ผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา และต้องการสร้างวัดที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

.

6. วัดมิ่งเมือง

จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ

1.องค์พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปั้น ลงรักปิดทองทั้งองค์ เป็นศิลปะเชียงแสนสิงห์ 1 ซึ่งได้ทำการซ่อมแซมมาถึง 4 ครั้งมีอายุถึง 400 กว่าปี ซึ่งครั้งหลังสุด ช่างที่ก่อสร้างได้เพิ่มขนาดขององค์พระให้ใหญ่ขึ้น โดยมีหน้าตักกว้างขนาด 80 นิ้ว มีนามว่า “หลวงพ่อพระศรีมิ่งเมือง” ที่มีพุทธลักษณะที่งดงามตามพุทธศิลป์แบบเชียงแสนสิงห์ 1 ยุคต้นโดยเฉพาะที่ยอดพระเกตุโมฬีเป็นรูปดอกบัวตูมแกะสลักจากหินแก้วจุยเจียหรือแก้วโป่งข่าม ซึ่งเป็นหินที่เกิดขึ้นในดินแดนล้านนาเท่านั้น

2.เจดีย์ เป็นปูชนียสถานเก่าแก่ ที่มีคู่มากับวัด เป็นศิลปะแบบล้านนา เดิมก่อนการบูรณะเป็นรูปทรงพม่าทั้งหมด แต่ต่อมาได้รับการบูรณะใหม่ โดยสร้างเจดีย์บริวารตั้งไว้สี่มุม ประดับด้วยฉัตรศิลปะแบบพม่า ชาวบ้านเรียกเจดีย์นี้ว่า “พระธาตุมิ่งเมือง” นอกจากนี้เจดีย์นี้มีความสำคัญ คือ เป็นที่เก็บรวบรวมประวัติของวัดไว้

3.วิหาร เป็นวิหารไทใหญ่ประยุกต์ผสมผสานกับรูปแบบของวิหารล้านนา ภายในตกแต่งด้วยลวดลายแกะสลักลงรักปิดทอง ประกอบกับการกรุฝ้าเพดานแบบไตรภูมิและบราลีเป็นรูปหงส์จำนวน 34 ตัว

4.บ่อน้ำ ชาวบ้านทั่วไป เรียกบ่อน้ำนี้ว่า “น้ำบ่อช้างมูบ” เพราะรูปแบบการก่อสร้างมีหลังคาเป็นรูปซุ้มโขง ประดับด้วยรูปปั้นของช้างทรงเครื่อง ซึ่งหมอบอยู่ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ในสมัยโบราณ บ่อนี้ได้ให้ประโยชน์แก่ชุมชนชาวตลาดเชียงรายเป็นอย่างมากเพราะเป็นบ่อน้ำแห่งเดียวที่อยู่ในบริเวณนี้ ทั้งใช้ตักดื่ม และตักไปขาย และเป็นสถานที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างในเมืองและนอกเมือง เมื่อชาวบ้านเดินทางไกลมาจะเข้าเมือง จะแวะพักดื่มน้ำที่บ่อนี้ก่อน และไปธุระ พอเสร็จธุระและจะออกจากตัวเมืองก็จะแวะพักเหนื่อย และดื่มน้ำที่บ่อช้างมูบก่อนแล้วค่อยเดินทางต่อไป

ประวัติ

วัดมิ่งเมือง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2513 เดิมเป็นวัดไทยใหญ่ มีอายุเท่ากับเมืองเชียงราย คือประมาณ 800 ปี เนื่องด้วยในสมัยก่อนมีชุมชนไทยใหญ่อาศัยอยู่รอบบริเวณวัด ประกอบกับมีศิลปะ ศาสนสถานและศาสนวัตถุแบบพม่า จึงถูกเรียกขานว่าเป็น วัดเงี้ยว แต่ชื่อที่ชาวเชียงรายรู้จักกันแพร่หลายคือ วัดจ๊างมูบ เป็นภาษาเหนือ แปลว่า วัดช้างหมอบ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และคำบอกเล่าของคนโบราณ วัดนี้มีความสำคัญเกี่ยวกับช้างคู่บารมีของพ่อขุนเม็งรายมหาราช แห่งราชอาณาจักรล้านนา องค์มหาราช ลำดับที่ 2 ของประวัติศาสตร์ไทย กล่าวคือ ในพิธีการเคลื่อนขบวนแห่พระแก้วมรกตออกทักษิณาวรรต รอบเมืองเชียงรายทางสถลมารค ในวันสำคัญทางประเพณี เช่น วันสงกรานต์ หรือ ปีใหม่เมือง จะมีการจัดเตรียมสถานที่ให้พญาช้างคู่บารมีของพ่อขุนเม็งรายมหาราชมาหมอบรอเทียบที่วัด เทินบุษบกเพื่อรับพระแก้วมรกต ที่แห่มาด้วยขบวนเสลี่ยง จากวัดพระแก้ว ซึ่งอยู่ห่างจากวัดไปทางทิศเหนือ 200 เมตร

.

7. วัดพระนอน

จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ

1.วิหารพระนอน: วิหารพระนอนเป็นการผสมผสานกันระหว่างศิลปะล้านนาและรัตนโกสินทร์ สอดคล้องกับประวัติการสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2497 – 2517 โดยมีโครงสร้างอาคารโดยรวมคล้ายกับอาคารล้านนา คือ เป็นอาคารทรงเตี้ย หน้าจั่วประดับด้วยเครื่องไม่สลัก หลังคาชั้นซ้อนขึ้นมาเป็น 2 ชั้น แต่ที่แตกต่างออกไป คือ การทำป้านลมเป็นลักษณะเส้นตรง ต่างจากป้านลมล้านนาที่โค้งอ่อนเน้นระนาบเอนของตับหลังคาโดยเฉพาะอย่างยิ่งลวดลายของหน้าบัน โก่งคิ้ว และรวงผึ้ง ซึ่งเป็นแผงไม้ประดับด้านหน้าระหว่างเสาของวิหารพระนอนแห่งนี้ มีลักษณะเป็นลายก้านขดตามรูปแบบสถาปัตยกรรมของไทยสยามภาคกลางที่มีการพัฒนาการต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งต่างจากสถาปัตยกรรมอาคารประเภทวิหาร และอุโบสถของล้านนาแบบดั้งเดิมนั้น นิยมทำลวดลายดอกไม้ใบไม้ฉลุโปร่ง โดยลวดลายประกอบเหล่านี้มียางส่วนสืบทอดมาจากศิลปะจีน

2.วิหารหลวงพ่อทันใจ: อยู่ใกล้กับทางเข้าวัด คือ วิหารหลวงพ่อทันใจ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ให้ศรัทธาประชาชนได้เข้ามาสักการะบูชากราบไหว้ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว รูปแบบทางสถาปัตยกรรมนั้นมีความใกล้เคียงศิลปะล้านนามากกว่าวิหารพระนอนแต่มีการปรับเปลี่ยนจากลักษณะดั้งเดิมอยู่บ้าง กล่าวคือ ผนังด้านหน้ามีทางเข้า 3 ประตู แต่ตัวอาคารไม่ได้ยกเก็จออกไปทางด้านหน้าดังเช่นรูปแบบดั้งเดิม

3.พระปัญจมหาธาตุ: พระปัญจมหาธาตุ ตั้งอยู่หลังวิหารพระเจ้าทันใจ เป็นเจดีย์ห้าองค์บนฐานไพทีก่ออิฐถือปูนเป็นอาคารชั้นเดียว ดูลักษณะคล้ายกับเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย แต่จะย่อส่วนลงโดยตั้งข้อ สันนิษฐานว่า วิหารพระปัญจมหาธาตุ วัดเชตวัน เชียงราย คล้ายกับวิหารวัดเจ็ดยอด เชียงใหม่ แต่เจดีย์บริวารเป็นทรงระฆัง ไม่ใช่ทรงศิขร (สิ – ขะ -ระ) หรือทรงปราสาท แบบวัดเจ็ดยอด ดังนั้น หากเปรียบเทียบช่วงเวลาการก่อสร้างสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในช่วงยุคหลังที่ช่างล้านนานิยมรูปแบบทรงเจดีย์เช่นเดียวกับพระธาตุวัดเจ็ดยอดจังหวัดเชียงราย

ประวัติ

วัดเชตวัน หรือ วัดพระนอน เดิมเป็นวัดร้างไม่ปรากฏผู้สร้าง บูรณะครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2380 โดยเจ้าอธิการหงส์กาวิโร (ครูบาก๋า) เดินธุดงค์มาจากวัดทุ่งฟ้าฮ่าม จังหวัดเชียงใหม่ ได้มาพบเจดีย์ ลูกนิมิตและต้นโพธิ์ใหญ่ บริเวณนี้เป็นป่ารกมากปกคลุมบริเวณวัดอยู่ ท่านตั้งใจว่าจะบูรณปฏิสังขรณ์ให้เป็นวัดให้ได้ จึงขอให้ศรัทธาสร้างกุฏิเล็กๆ ชั่วคราว พอถึงเวลาเข้าพรรษาไปอยู่วัดศรีเกิด ครั้งถึงออกพรรษาแล้วจึงได้ชักชวนศรัทธาประชาชนและ ญาติโยมจากเชียงใหม่มาทำไร่นาและทำสวนบริเวณนี้ ประชาชนจึงร่วมใจกันสร้างวัด และได้ตั้งชื่อวัดขึ้นว่า วัดป่าแดด เพราะฤดูแล้งไฟไหม้ป่าหมดแล้วก็เห็นแต่แสงแดด ต่อมามีการเรียกขานชื่อวัดเป็น “วัดเชตวัน” ได้รับอนุญาตตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2392 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2400

.

8. วัดพระธาตุดอยจอมทอง

จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ

1. พระธาตุดอยจอมทอง: เป็นเจดีย์ทรงระฆังสีทอง ตั้งอยู่บนยอดดอยจอมทอง เป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของเมืองเชียงรายได้ 360 องศา

2. เสาสะดือเมือง: เป็นเสาหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัด เชื่อกันว่าเป็นเสาสะดือเมืองเชียงราย

3. วิหารหลวง:เป็นวิหารหลังใหญ่ของวัด สร้างด้วยสถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย

ประวัติ

สร้างขึ้นในสมัยพระยาเรือนแก้ว ผู้ครองเมืองไชยนารายณ์ (อ.เวียงชัย ปัจจุบัน) ราวปี พ.ศ. 1332 ต่อมาในสมัยของพญามังรายมหาราช ขณะนั้นเป็นเจ้าเมืองหิรัญนครเงินยาง (เชียงแสน ในปัจจุบัน) เมื่อช้างพระที่นั่งหายจึงทรงติดตามมาพบที่วังคำ พระองค์ได้เสด็จขึ้นมาบนดอยจอมทองทรงเห็นว่าเป็นชัยภูมิที่เหมาะสม จึงโปรดให้ก่อสร้างปราการโอบดอยไว้โดยรอบขนานนามว่าเมืองเชียงราย และทรงกำหนดให้พื้นที่ในบริเวณเดียวกันเป็นสะดือเมืองเชียงราย ต่อมาจึงมีการสร้างพระธาตุขึ้น ในคราวที่พระมหาเถระจากเมืองลังกา มาเผยแผ่พระพุทธศาสนา ได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาจำนวน 16 องค์ ถวายแก่พระเจ้าพังคราชเจ้าเมืองโยนกนาคพันธุ์ พระธาตุบางส่วนได้ถูกอัญเชิญไปบรรจุและสร้างพระธาตุจอมกิตติ ที่เชียงแสน อีก 3 องค์ พระองค์ได้มอบให้แก่พญาเรือนแก้ว เจ้าเมืองไชยนารายณ์ จึงนำบรรจุเป็นพระธาตุดอยจอมทอง ซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมล้านนาและพุกาม ตั้งอยู่ภายในวัด และมีประเพณีการสรงน้ำพระธาตุในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ใต้ (เดือน 5 เหนือ)

.

9. วัดขัวแคร่

จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ

1.พระมหาวิหารหลวงพญาเจ้ามังรายมหาราช คือ สถานที่ผู้คนนิยมเข้าไปสักการะ เนื่องจากเป็นพระวิหาร และซุ้มประตูของพระวิหาร ด้วยความโดดเด่นในเรื่องของศิลปกรรม ที่มีความยิ่งใหญ่อลังการ วิจิตรสวยงามอ่อนช้อย สีสันสวยงาม มีขนาดใหญ่และถูกออกแบบมาได้อย่างสวยงาม

2.เจดีย์สีขาว เป็นอีกจุดหนึ่งที่ต้องไปสักการะ โดยด้านบนเป็นสีทองไปจนถึงปลายเจดีย์ ส่วนรอบๆ พระมหาวิหาร ก็จะมีการสร้างคล้ายกับประตูทางเข้าในแต่ละมุม ซึ่งจะมีสีสันแตกต่างกันออกไปอีก สวยงามมาก แต่ก็แปลกตามากเช่นเดียวกัน เพราะทางเข้าทั้ง 4 มุมนี้ ไม่เหมือนกันเลย ซึ่งรอบๆ พระเจดีย์ก็จะมีพระพุทธรูปตั้งอยู่ในแต่ละบานประตู มีฝั่งละ 5 องค์ รวมแล้วทั้งหมด 4 ฝั่งด้วยกันรวมไปถึงมีรูปปั้นช้างสารสีขาว และ พระพุทธรูปสีขาวขนาดใหญ่ ที่ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมากอีกด้วย

ประวัติ

วัดมังคลถาวราราม หรือที่รู้จักกันในชื่อของ วัดขัวแคร่ เป็นวัดที่ตั้งอยู่ใน ตำบล บ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ติดถนนสายหลักทางไปสนามบินนานาชาติเชียงราย ประวัติของวัดขัวแคร่ ไม่ปรากฏปีที่สร้างอย่างชัดเจน แต่เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากเป็นสถานที่รวมผู้คนมากมายหลากหลายชาติพันธุ์เอาไว้ ทั้งคนลื้อ คนไทยใหญ่ คนยอง คนเมือง เป็นต้น ถือได้ว่าเป็นอีกวัดที่มีความสัมพันธ์อันยาวนานกับชุมชน

เช็คอิน 9 วัดสวยในเชียงราย สะสมแต้มบุญกับกิจกรรม “คำ ธรรม นาย”

ขั้นตอนเช็คอินสะสมแต้ม และ รับคำทำนาย

1. ลงทะเบียนใช้งานครั้งแรกกับ “คำ ธรรม นาย” เลือกเมนู สมัครบัญชีผู้ใช้

2. กรอกข้อมูลส่วนตัว กดปุ่ม “สร้างบัญชีผู้ใช้”

3. เลือก “วัด” หรือ “ร้านอาหาร คาเฟ่”

4. เลือกสถานที่ที่ต้องการเช็คอิน

5. กดปุ่ม “เช็คอินสะสมแต้ม”

6. กดปุ่ม “รับคำทำนาย” เพื่อกรอกคำอธิษฐาน

7. รับคำทำนาย และ เลขนำโชค

ดูข้อมูลเพิ่มเติม : GoNorthThailand หรือสอบถามเพิ่มเติม ททท.สำนักงานเชียงราย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ททท. ร่วมกับจังหวัดเชียงราย ส่งท้ายปีด้วยบิ๊กอีเวนต์ถิ่นเหนือ “Lanna Winter Wonderland” สนุกกับ 10 จุดแลนด์มาร์ก เพลิดเพลินกับเหล่าศิลปินแนวหน้า ตื่นตาตื่นใจกับการประดับไฟ สุดอลังการ
พิกัดจุดถ่ายรูปทั้ง 10 Landmarks และ 2 Highlights ที่ห้ามพลาด ในงาน “Lanna Winter Wonderland”
ตารางการแสดงของศิลปิน และการแสดงอื่น ๆ ในงาน “Lanna Winter Wonderland” วันที่ 22 – 30 พ.ย. 67 นี้
เปิดภาพตัวอย่าง 10 แลนด์มาร์ก ในงาน “Lanna Winter Wonderland”
“เหนือพร้อม…เที่ยว” Kick off แคมเปญ “แอ่วเหนือ…คนละครึ่ง” ดีเดย์ 1 พ.ย. นี้
ททท. จัดแคมเปญ “แอ่วเหนือ…คนละครึ่ง” เริ่ม 1 พฤศจิกายนนี้ มอบส่วนลด 50% รวมไม่เกิน 400 บาท 10,000 สิทธิ์ แบบ First Come First Served ลงทะเบียนก่อนรับสิทธิ์ก่อน ณ โรงแรมในโครงการที่นักท่องเที่ยวเข้าพัก