ครม. เห็นชอบงดเก็บค่าไฟฟ้า ก.ย. และ ต.ค. ลด 30% พื้นที่ประสบอุทกภัย พร้อมอนุมัติฟื้นฟูช่วยเหลือลูกหนี้ ธ.ก.ส. ระยะที่ 2 – 3

(24 ก.ย. 67) ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย และประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก ตามประกาศโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบันของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ในพื้นที่ที่หน่วยงานราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติจากอุทกภัย) ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ โดยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้ดําเนินมาตรการ

กฟภ. ดําเนินมาตรการช่วยเหลือด้านค่าไฟฟ้าเดือน ก.ย. – ต.ค. 67

กระทรวงมหาดไทย โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดําเนินมาตรการช่วยเหลือด้านค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก ที่อยู่ในพื้นที่ที่หน่วยงานราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติจากอุทกภัย เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนผู้ประสบภัย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ไม่เรียกเก็บค่าไฟฟ้าประจําเดือนกันยายน 2567 โดยกําหนดให้เป็นส่วนลดก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

2. สําหรับค่าไฟฟ้าประจําเดือนตุลาคม 2567 ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 30 โดยกําหนดให้เป็นส่วนลดก่อนการคํานวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

ครม. อนุมัติ มาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 2 – 3 ให้เกษตรกรได้รับความช่วยเหลือต่อเนื่อง

เนื่องจากมาตรการพักชำระหนี้รายย่อย ระยะที่ 1 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2567 เพื่อให้เกษตรกรผู้เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 เพื่อพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 22,972 ล้านบาท

วัตถุประสงค์/กลุ่มเป้าหมาย

  • เพื่อลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งยังไม่ฟื้นตัว
  • เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนภาระดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ธนาคาร โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่เข้าร่วมมาตรการพักหนี้ ระยะที่ 1 (ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2567) จำนวน 1,855,433 ราย ต้นเงินคงเป็นหนี้รวม จำนวน 240,836 ล้านบาท รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกร ร้อยละ 4.50 ต่อปี โดยรัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรลูกหนี้ ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี จำนวน 21,172 ล้านบาท และสนับสนุนค่าใช้จ่ายการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. จำนวน 1,800 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและตามผลการดำเนินงานจริงต่อไป แบ่งเป็น
  • ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568 กรอบวงเงินชดเชยจำนวน 10,550 ล้านบาท
  • ระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2569 กรอบวงเงินชดเชยจำนวน 10,622 ล้านบาท
  • รวมกรอบวงเงินชดเชย จำนวน 21,172 ล้านบาท
  • สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. สำหรับเกษตรกร ปีละประมาณ 300,000 ราย (รายละ 3,000 บาท) ระยะเวลา 2 ปี

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย ภาพ/ข่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ รายงานสถานการณ์อุทกภัย และดินถล่ม ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ประจำวันที่ 24 กันยายน 2567
ประมวลภาพอุทกภัยและดินถล่ม ความเสียหายหลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงราย ทั้งบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตร
จังหวัดเชียงราย เกิดฝนตกหนักสะสมต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค. 67 เป็นต้นมา เกิดอุทกภัยและดินถล่ม ส่งผลกระทบ 10 อำเภอ 29 ตำบล 192 หมู่บ้าน
จังหวัดเชียงราย จัดกิจกรรมตรวจความพร้อมกำลังพลและเครื่องจักรกลสาธารณภัยในการป้องกัน แก้ไขปัญหาอุทกภัยและดินถล่ม ประจำปี พ.ศ.2565
เชียงรายสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายแล้ว ผู้ว่าฯ สั่งการเร่งสำรวจพื้นที่ทางการเกษตร บ้านเรือนราษฎรที่ได้รับความเสียหาย
เชียงราย เจอฝนต่อเนื่อง น้ำเพิ่มระดับ ไหลท่วมหลายอำเภอ