
ปักหมุดวันทดสอบแจ้งเตือนผ่าน Cell Broadcast
ไม่ต้องตกใจ!! … เตรียมตัวให้พร้อม…บอกคนใกล้ตัวด่วน
ปภ.เคาะวันทดสอบส่งข้อความแจ้งเตือนผ่าน Cell Broadcast 3 ระดับ ในวันที่ 2, 7 และ 13 พ.ค.68 ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ตามแผนการทดสอบนี้ จะได้รับข้อความทดสอบการแจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์มือถือทั้งรูปแบบเสียงเตือนและข้อความบนหน้าจอ
- วันศุกร์ที่ 2 พ.ค. 68 เวลา 13.00 น. ระดับเล็ก (ภายในอาคาร) ใน 5 พื้นที่ ได้แก่ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี ศาลากลางจังหวัดสงขลา และอาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคาร A และอาคาร B กรุงเทพมหานคร
- วันพุธที่ 7 พ.ค. 68 เวลา 13.00 น. ระดับกลาง (ระดับอำเภอ) ใน 5 พื้นที่ ประกอบด้วย อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ อ.เมืองนครราชสีมา จ. นครราชสีมา อ.เมืองสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี และเขตดินแดง กรุงเทพมหานคร
- วันอังคารที่ 13 พ.ค. 68 เวลา 13.00 น. ระดับใหญ่ (ระดับจังหวัด) ใน 5 พื้นที่ ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ จ.อุดรธานี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.นครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร

ปภ. จับมือ 6 หน่วยงาน แถลงความพร้อมการแจ้งเตือนภัยผ่าน Cell Broadcast เผยเตรียมทดสอบระบบครั้งแรกของประเทศ ในวันที่ 2, 7 และ 13 พ.ค. 68 สร้างความมั่นใจให้ประชาชนก่อนเปิดใช้งานระบบเต็มรูปแบบ
วันที่ 23 เมษายน 2568 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุม 1 อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานแถลงข่าวการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) เตรียมทดสอบระบบในช่วงวันที่ 2, 7 และ 13 พฤษภาคม 2568 ในพื้นที่ ต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อทดสอบระบบการแจ้งเตือนภัยและพัฒนาปรับปรุงการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการประสานการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานและขั้นตอนในการทำงาน เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากที่สุด โดยมีนางสาวพิยะดา สุดกังวาล ที่ปรึกษาด้านการสื่อสารสำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นางสาวอรัญญา เกตุแก้ว รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าหน่วยธุรกิจงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร หัวหน้าสายงานรัฐกิจสัมพันธ์และกำกับดูแล บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และนายณัฐวุฒิ ศาสตราวาหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานสื่อสารไร้สาย บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าว
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี มีความห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยที่เกิดขึ้นในอนาคต จึงได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) เพื่อใช้เป็นช่องทางในการแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชนอย่างรวดเร็ว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย จึงได้ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมประชาสัมพันธ์ รวมถึงผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ AIS True และ NT เตรียมความพร้อมในการใช้งานระบบการแจ้งเตือนภัยด้วย Cell Broadcast โดยได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติงาน (SOP) และมาตรฐานข้อความในการแจ้งเตือนภัยที่กระชับ ชัดเจน เข้าใจง่าย ประชาชนอ่านแล้วเข้าใจทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น และจะต้องปฏิบัติตนอย่างไรให้ปลอดภัยจากสถานการณ์ภัย ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมในการให้บริการแล้ว โดยจะทำการทดสอบการแจ้งเตือนภัยด้วย Cell Broadcast ในพื้นที่จริงนอกห้องปฏิบัติการ เพื่อประเมินประสิทธิภาพให้สามารถแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุม และแม่นยำ

นายภาสกร กล่าวต่อว่า เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยมีระบบการแจ้งเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้รับข้อความการแจ้งเตือนภัยอย่างรวดเร็วและแม่นยำ ปภ. ได้ร่วมกับ 6 หน่วยงาน กำหนดวันทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยด้วย Cell Broadcast ในวันที่ 2 , 7 และ 13 พ.ค.68 ที่จะถึงนี้ โดยแบ่งการทดสอบเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับเล็ก ระดับกลาง และระดับใหญ่ ครอบคลุมจังหวัดใหญ่ในภูมิภาค รวมถึง กทม. ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการทดสอบการแจ้งเตือนภัยด้วย Cell Broadcast นอกห้องปฏิบัติการครั้งแรกของประเทศ และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการแจ้งเตือนภัยด้วยระบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม โดยการทดสอบการแจ้งเตือนภัยด้วยระบบ Cell Broadcast ในครั้งนี้ ประชาชนจะได้รับเสียงแจ้งเตือนดังขึ้นจากโทรศัพท์มือถือและมีข้อความแจ้งเตือนปรากฏขึ้นบนหน้าจอโดยอัตโนมัติ แบบเดียวกับที่ได้รับในเวลาที่เกิดสถานการณ์ภัยขึ้นจริง โดย ปภ. จะส่งข้อความทดสอบทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นข้อความว่า “ทดสอบแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โปรดอย่าตื่นตระหนก This is a test message from Department of Disaster Prevention and Mitigation (DDPM). No action required.” เพื่อให้ประชาชนทราบว่าเป็นการทดสอบระบบเท่านั้น หากประชาชนได้รับข้อความดังกล่าว ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตกใจ เพราะการส่งข้อความในครั้งนี้เป็นเพียงการทดสอบระบบเท่านั้น และภายหลังจากการทดสอบแต่ละระดับแล้ว หน่วยงานจะมีประเมินประสิทธิภาพการแจ้งเตือนภัยเพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงการทำงานทั้งในด้านการใช้งานระบบและการประสานการปฏิบัติงาน เพื่อให้การแจ้งเตือนภัยมีความแม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น

สำหรับการทดสอบระบบการแจ้งเตือนผ่าน Cell Broadcast ได้กำหนดแผนการทดสอบ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับเล็ก (ภายในอาคาร) ระดับกลาง (ระดับอำเภอ) และระดับใหญ่ (ระดับจังหวัด) ซึ่งผู้ที่อยู่ในพื้นที่ตามแผนการทดสอบนี้ จะได้รับข้อความทดสอบการแจ้งเตือนผ่านระบบ Cell Broadcast ไปยังโทรศัพท์มือถือทั้งรูปแบบเสียงเตือนและข้อความบนหน้าจอ
- การทดสอบแจ้งเตือนภัยระดับเล็ก (ภายในอาคาร) กำหนดในวันศุกร์ที่ 2 พ.ค. 68 เวลา 13.00 น. ใน 5 พื้นที่ ได้แก่ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี ศาลากลางจังหวัดสงขลา และอาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคาร A และอาคาร B กรุงเทพมหานคร
- การทดสอบการแจ้งเตือนภัยระดับกลาง (ระดับอำเภอ) กำหนดในวันพุธที่ 7 พ.ค. 68 เวลา 13.00 น. ใน 5 พื้นที่ ประกอบด้วย อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี และเขตดินแดง กรุงเทพมหานคร
- การทดสอบการแจ้งเตือนภัยระดับใหญ่ (ระดับจังหวัด) กำหนดในวันอังคารที่ 13 พ.ค. 68 เวลา 13.00 น. ใน 5 พื้นที่ ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ จ.อุดรธานี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.นครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร
“การแจ้งเตือนภัยด้วยระบบ Cell Broadcast นั้น มีจุดเด่นคือสามารถแจ้งเตือนภัยไปยังพื้นที่เป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้รับข้อความแจ้งเตือนภัยอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม การแจ้งเตือนภัยด้วยระบบ Cell Broadcast ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เนื่องจากระบบนี้จะใช้งานได้บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G และ 5G ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android เวอร์ชัน 11 ขึ้นไป และระบบปฏิบัติการ IOS ที่อัปเดตเป็น IOS 18 แล้วเท่านั้น ดังนั้นขอให้ประชาชนทำการอัปเดตเวอร์ชันของระบบปฏิบัติการให้เป็นปัจจุบัน ในส่วนของโทรศัพท์ 2G 3G รวมถึง Iphone 10 ลงมาที่ไม่สามารถอัปเดตเวอร์ชันเป็น IOS 18 ได้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะใช้วิธีการแจ้งเตือนภัยผ่านข้อความสั้น (SMS) เพื่ออุดช่องโหว่ดังกล่าว โดย ปภ. จะกำหนดข้อความแจ้งเตือนและพื้นที่ที่ต้องการส่งข้อความให้ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือเพื่อทำการส่งข้อความแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนต่อไป ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า ปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการอย่างเต็มความสามารถ หาแนวทาง ขั้นตอน ตลอดจนวิธีการปฏิบัติงานที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนทุกคนได้อย่างครอบคลุม” นายภาสกร อธิบดี ปภ. กล่าวปิดท้าย
การแจ้งเตือนภัยด้วยระบบ Cell Broadcast ถือเป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและผลักดันให้มีระบบการแจ้งเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ เติมเต็มช่องว่างของการแจ้งเตือนภัยรูปแบบเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้การส่งข้อมูลการแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นไปอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ผ่านการส่งเสียงสัญญาณพร้อมข้อความแจ้งเตือนภัยไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชนโดยตรง ทำให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติ คนในพื้นที่หรือคนที่เดินทางมาท่องเที่ยว ได้รับข้อความแจ้งเตือนอย่างทั่วถึง สามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง และอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากสาธารณภัยและเหตุฉุกเฉินได้อย่างมหาศาล
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM ภาพ/ข่าว