12 มกราคม 2565 ที่ห้องประชุมจอมกิตติ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงราย ปี พ.ศ. 2564-2565 เพื่อสร้างความเข้าใจ และกำหนดรูปแบบแนวทางในการทำงาน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเตรียมความพร้อมรับมือในการป้องกันปัญหาไฟป่าและหมอกควันพื้นที่จังหวัดเชียงรายในเชิงรุก โดยมีพันเอก กิตติพล ไพรหิรัญ รองผู้อำนวยการกองรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเชียงราย นายพินิจ แก้วจิตรคงทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย คณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม อย่างพร้อมเพรียง
นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และ PM2.5 เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนสำคัญของจังหวัด ที่ทุกหน่วยงานต้องให้ความร่วมมืออย่างเอาจริงเอาจัง โดยยุทธศาสตร์ในปีนี้คือ การสำรวจรายชื่อผู้หาของป่า มาเป็นแนวร่วมในการลาดตระเวน ควบคุมไฟป่า และแบ่งโซนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงก่อน การประกาศห้ามเผา และใช้ระบบศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ (Single Command) ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และ PM2.5 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
จากนั้น ที่ประชุมได้รายงานผลการเตรียมการป้องกันปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ซึ่งในระยะที่ผ่านมาได้เตรียมความพร้อมจัดทำแผนเผชิญเหตุ และรณรงค์ขอความร่วมมืองดการเผาในที่โล่งทุกชนิด เพื่อลดการสะสมของฝุ่นละออง เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 และจัดชุดลาดตระเวน สำรวจรายชื่อผู้หาของป่า พร้อมขอความร่วมมือมาเป็นแนวร่วมในการป้องกันไฟป่า ขณะที่ในวันนี้ (12 ม.ค. 2565) ค่า PM 2.5 เริ่มมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นแล้ว โดยได้มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เสี่ยง ตั้งแต่ 20 ธันวาคม 2564 – 30 มกราคม 2565
นอกจากนี้ ยังได้นำเทคโนโลยีการจัดระเบียบการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เสี่ยง (Burn Check) มาใช้เพื่อช่วยสนับสนุนการป้องกันไฟป่าหมอกควันด้วย ในการนี้จังหวัดเชียงรายได้มีมติกำหนดห้วงห้ามเผาในที่โล่งทุกชนิด “60 วันปลอดการเผาในพื้นที่จังหวัดเชียงราย” ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 เมษายน 2565 และกำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินการ โดยเปรียบเทียบจำนวนจุด Hotspot จากดาวเทียมระบบ VIIR พื้นที่เผาไหม้ และปริมาณ PM 2.5 เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง ลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ด้วย