กรมทางหลวงชนบท สนับสนุนเส้นทางสู่โครงการหลวง ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ ก่อสร้างถนนสายบ้านทุ่งยาว (ช่วงที่ 2) จ.เชียงราย ก่อสร้างถนนสายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 118-บ้านทุ่งยาว (ช่วงที่ 2) อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย คืบหน้ากว่า 57%
วันที่ 14 มกราคม 2565 นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า อำเภอเวียงป่าเป้าเป็นเขตติดต่อระหว่างจังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตลอดเส้นทางมีอุทยานแห่งชาติตั้งอยู่หลายแห่งและเป็นที่ตั้งของโครงการหลวง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
แต่เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน เส้นทางบางส่วนคับแคบและเป็นถนนดินลูกรัง ส่งผลให้การเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวและการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรเป็นไปด้วยความยากลำบากโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน
ดังนั้น ทช.จึงได้สนับสนุนงบประมาณในการสำรวจออกแบบและก่อสร้างถนนสายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 118-บ้านทุ่งยาว (ช่วงที่ 2) อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย โดยได้รับอนุญาตการขอใช้พื้นที่ในการปรับปรุงและก่อสร้างเส้นทางจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อสนับสนุนเส้นทางเข้าสู่พื้นที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติระหว่างเส้นทางตลอดโครงการ
อาทิ อ่างเก็บน้ำดอยงู บ้านทุ่งยาว บ้านห้วยทราย บ้านป่าเมี่ยงม่อนวัด บ้านห้วยคุณพระ และบ้านขุนลาว อีกทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาในการเดินทางและการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรของประชาชนในพื้นที่ให้มีความสะดวกปลอดภัยในทุกฤดูกาล พร้อมทั้งสามารถรองรับการเจริญเติบโตของเมืองเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าวได้ในอนาคต
โครงการก่อสร้างถนนสายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 118-บ้านทุ่งยาว (ช่วงที่ 2) อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณแยกถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 118 (เชียงใหม่-เชียงราย) ช่วง กม.ที่ 76+100 แล้วเข้าไปในพื้นที่ของป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติขุนแจ จากนั้นจึงเชื่อมกับถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 118 (เชียงใหม่-เชียงราย) อีกครั้งในบริเวณ กม.ที่ 54+100 รวมระยะทาง 16.875 กิโลเมตร
ซึ่งเป็นการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 2 ช่องจราจร ความกว้าง 4-5 เมตร พร้อมก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 3 แห่ง ระบบระบายน้ำ ป้ายและเครื่องหมายจราจรสำหรับ อำนวยความปลอดภัย โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 108.7 ล้านบาท (หนึ่งร้อยแปดล้านเจ็ดแสนบาท)
ปัจจุบันอยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้างในส่วนของผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็ก งานสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก และระบบระบายน้ำ ได้แก่ ท่อลอดเหลี่ยม ท่อระบายน้ำใต้ถนน และรางระบายน้ำ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้ประชาชนสัญจรได้ในช่วงปลายปี 2565