วันศุกร์ที่ 21 มกราคม 2565 นายวราดิศร อ่อนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยสำนักงานพาณิชย์จังหวัด, สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด, สำนักงานชั่งตวงวัด จังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่ตรวจติดตามหาสาเหตุเพื่อแก้ไขปัญหาราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและราคาสุกร ที่มีราคาสูง
จุดที่คณะลงพื้นที่ตรวจติดตาม คือ ตลาดสดนวลจันทร์ (อำเภอแม่จัน) ตลาดสดบ้านดู่และตลาดล้านเมือง (อำเภอเมือง) พบว่าราคาสินค้าในหมวดผักและผลไม้ สินค้าอุปโภคบริโภค ยังคงจำหน่ายในราคาปกติ ยกเว้นเนื้อสุกรชำแหละที่มีราคาสูงจากเดิม เช่น หมูเนื้อแดง ราคา กก.ละ 180 – 200 บาท ซึ่งสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในภาวะราคาสุกรสูงขึ้น โดยดำเนินโครงการหมูพาณิชย์ ลดราคา! ช่วยประชาชน จำหน่าย “หมูเนื้อแดง” จังหวัดเชียงราย กิโลกรัมละ 150 บาท จำนวน 7 จุด ระหว่างวันที่ 16 – 31 มกราคม 2565 ซึ่งได้รับผลตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างมาก
จากนั้นคณะได้ตรวจติดตามที่โรงฆ่าสัตว์ บริษัท เอ็ม เอสพี อินเตอร์ฟู้ด 2015 จำกัด ในพื้นที่อำเภอแม่ลาว ซึ่งเป็นโรงฆ่าสัตว์ เพื่อส่งจำหน่ายสุกรชำแหละ (หมูอินเตอร์) จำนวน 12 สาขา ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย จากการตรวจสอบพบว่ามีปริมาณการเชือดสุกรในสภาวะปกติ วันละ 100 ตัว และในภาวะราคาสุกรปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ได้ลดปริมาณการเชือดสุกรลง เหลือวันละ 50 – 60 ตัว เนื่องจากสุกรมีชีวิต มีปริมาณที่ลดลง ส่งผลทำให้ราคาจำหน่ายสุกรเพิ่มสูงขึ้น
ต่อจากนั้น คณะได้ตรวจติดตามที่ห้องเย็น โค-ดีซี อี มาร์เก็ต ในพื้นที่อำเภอเมือง ซึ่งรับฝากอาหารแช่แข็งในกลุ่มเนื้อสุกรชำแหละ สุกรแปรรูป ชิ้นส่วนไก่และอาหารทะเล เพื่อจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยห้องเย็นดังกล่าวได้รายงานปริมาณการฝากเก็บชิ้นส่วนสุกร รวมปริมาณ 17,723 กก. (ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2565 เรื่อง การแจ้งปริมาณ ราคา สถานที่เก็บ และจัดทำบัญชีคุมสินค้าสุกร เนื้อสุกร)