วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 นายทวีศักดิ์ วาณิชย์เจริญ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการออกแบบและพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว การจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนเชื่อมโยง ณ โรงแรมเชียงรายแกรนด์รูม ตำบลสันทราย อำเภอเมืองเชียงราย โดยมีนางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ให้การกล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
การประชุมเชิงปฏิบัติการ การออกแบบและพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว (การจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนเชื่อมโยง) เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการยกระดับศักยภาพบุคลากร สินค้า บริการ และการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดเชียงรายแบบบูรณาการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนเชื่อมโยง พัฒนาและออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงให้ข้อเสนอแนะและวิเคราะห์ความเป็นไปได้เส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง โดยทีมวิทยากรจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน และสรุปคัดเลือกเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนเชื่อมโยงภายใต้แนวคิดท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ของจังหวัดเชียงรายเพื่อจัดกิจกรรม Press Trip การท่องเที่ยวโดยชุมชนสร้างสรรค์ต้นแบบต่อไป
โดยจัดการประชุมระหว่างวันที่ 21 – 22 กุมภาพันธ์ 2565 มีผู้เข้าร่วมการประชุมจำนวน 10 ชุมชนๆ ละ 7 คน รวมทั้งสิ้น 70 คน ประกอบด้วย ชุมชนบ้านฟาร์มสัมพันธกิจ ชุมชนบ้านสันป่าเหียง ชุมชนบ้านนางแลใน จากอำเภอเมืองเชียงราย ชุมชนบ้านห้วยส้านดอนจั่น อำเภอแม่ลาว ชุมชนบ้านแม่สลอง อำเภอแม่จัน ชุมชนบ้านป่าตาลประชาสันติ อำเภอขุนตาล ชุมชนบ้านโป่งแดง อำเภอพาน ชุมชนบ้านห้วย ทรายขาว อำเภอพาน ชุมชนบ้านเหล่า อำเภอเมืองแม่สรวย และชุมชนบ้านม่วงคำ อำเภอแม่สาย
นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่าจังหวัดเชียงราย ถือเป็นอีกหนึ่งเมืองท่องเที่ยวสำคัญในภาคเหนือมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 2 ประเทศ คือ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และยังอยู่ใกล้กับพรมแดนของสาธารณรัฐประชาชนจีนทางตอนใต้ ด้วย ในส่วนของกลุ่มชาติพันธุ์ จังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัดที่มีชาติพันธุ์ในอดีตถึง 30 ชาติพันธุ์ ซึ่งทำให้เชียงรายมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ จังหวัดเชียงราย มีความสมบูรณ์พร้อมทั้งความงดงาม ทางธรรมชาติ ความล้ำค่าทางศิลปวัฒนธรรมล้านนา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของวิถีชีวิต และประเพณีที่ปัจจุบันยังคงปรากฏกลิ่นอายร่องรอยความรุ่งเรืองในอดีต สามารถสร้างเป็นจุดขายและสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนแห่งใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวเอง มีโอกาสได้เยือนถิ่นวัฒนธรรมล้านนา ซึ่งนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมประเพณีเทศกาลต่างๆ พร้อมทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย ก่อให้เกิดการสร้างรายได้แก่ประชาชนในจังหวัดเชียงรายอย่างยั่งยืนต่อไป