รมช.มนัญญา ปลื้มโครงการพัฒนาพื้นที่รองรับการวิจัยเทคโนโลยีผลิตกัญชาคืบหน้า ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางครบวงจร พัฒนางานวิจัยพันธุ์กัญชาประเทศไทย
วันที่ 3 มีนาคม 2565 รมช.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดําเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตกัญชา ของกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย สถาบันวิจัยพืชสวน อ.เมือง จ.เชียงราย
รมช.มนัญญา กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการขับเคลื่อนสมุนไพรไทย และสนับสนุนการผลิตกัญชงและกัญชา เพื่อนํามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รวมถึงผลักดันให้พืชสกุลกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ชนิดหนึ่งของประเทศไทย กระทรวงเกษตรฯ จึงได้มีนโยบายขับเคลื่อนพืชสมุนไพร โดยได้มอบงบประมาณให้กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการดําเนินการวิจัยพันธุ์และเทคโนโลยีผลิตพืช ดําเนินโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตกัญชา ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 เพื่อรองรับการวิจัยด้านพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตกัญชาที่เหมาะสม สร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี และมาตรฐานการผลิต สำหรับถ่ายทอดสู่เกษตรกร และเพื่อให้เป็นศูนย์ต้นแบบเรียนรู้พันธุ์และเทคโนโลยี การผลิตพืชสกุลกัญชา ทั้งรูปแบบการปลูกในโรงเรือน และการปลูกในแปลงกลางแจ้ง ผลักดันให้พืชกัญชงและกัญชา เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่สามารถสร้างอาชีพและรายได้ที่ มั่นคงสําหรับพี่น้องเกษตรกรต่อไป
สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตกัญชา ประกอบด้วย อาคารวิจัยกัญชาระบบปิด ขนาดพื้นที่ 1,780 ตารางเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2565 และแปลงวิจัยกัญชา พื้นที่ 60 ไร่ คาดว่าจะแล้วเสร็จในสิ้นปีนี้ วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านพันธุ์ รวบรวมและจำแนกกัญชาสายพันธุ์ไทย รวมถึงพัฒนาพันธุ์ โดยการปรับปรุงพันธุ์ให้ได้สายพันธุ์ลูกผสม ที่มีความเหมาะสมสำหรับเพาะปลูกในประเทศไทย ตลอดจนวิธีการเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษาผลผลิต และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับกัญชาสาย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างสารออกฤทธิ์มากขึ้น ทำให้นักวิจัยกรมวิชาการเกษตร เกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งองค์การเภสัชกรรมและองค์การอาหารและยา (อย.) และกลุ่มผู้ปลูกกัญชาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้
“โครงการนี้จะทำให้ได้สถานที่เพื่อรองรับการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตกัญชา รวมทั้งผลิตเมล็ดพันธุ์ โดยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาพืชสกุลกัญชาของกรมวิชาการเกษตร ด้านการปรับปรุงพันธุ์ และเทคโนโลยีการผลิต แบบครบวงจร ซึ่งได้พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการวิจัยผลิตกัญชาที่ถูกต้อง เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และแนวทางการปฏิบัติด้านการจัดเตรียมสถานที่ การเก็บรักษา และการควบคุมการใช้สำหรับผู้ขออนุญาตปลูก ทำให้ประเทศไทยมีวัตถุดิบกัญชาที่มีคุณภาพ และสารสำคัญที่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และโอกาสทางการตลาด เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันการผลิตของไทยเพื่อการค้าส่งออกต่อไป” รมช.มนัญญา กล่าว.