วันนี้ (4 เม.ย.) องค์กรเอกชนใน จ.เชียงใหม่ และ ผจก.หจก.เชียงใหม่ เค คอนสตรัคชั่น ซึ่งรับก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 พร้อมที่พักอาศัยและสิ่งก่อสร้างประกอบ บนถนนหมายเลข 1211 สายเด่นห้า-ดงมะดะ บ้านหนองแสล๊บ ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย แทนบ้านป่าแหว่ง ได้ร่วมกันเปิดเผยการก่อสร้างอาคารดังกล่าวไม่มีความคืบหน้า จนเกรงว่าจะทำให้การคืนพื้นที่บ้านป่าแหว่งล่าช้า
นายณัฐดนัย ทรนงค์ชัยภักดิ์ หุ้นส่วน ผจก.หจก.เชียงใหม่ เค คอนสตรัคชั่น ได้ให้ข้อมูลการก่อสร้างที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่เชียงราย ว่าตนได้รับการแต่งตั้งให้ควบคุมงานก่อสร้างโครงการฯ ที่ จ.เชียงราย โดยได้รับการว่าจ้างตามสัญญาจากเอกชนที่เป็นคู่สัญญาหลัก กำหนดก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 1,050 วัน หรือสิ้นสุดวันที่ 7 ก.ย. 2565 นี้
ที่ผ่านมา หจก.ได้ใช้เงินลงทุนดำเนินการก่อสร้างไปแล้วเกือบ 100 ล้านบาท ทำงานตั้งแต่วันแรกจนถึงวันที่ 4 เม.ย.นี้ไม่ได้หยุดงานแม้แต่วันเดียว ที่ผ่านมาได้ส่งงานงวดที่ 1 ซึ่งงานของตนคือ 1.1 ไปแล้วประมาณ 13 ล้านบาท แต่ต่อมาศาลมีคำสั่งว่ามีการจ้างช่วงจึงมีคำสั่งให้ปรับเป็นเงินประมาณ 10,390,000 บาท บวกดอกเบี้ยอีกประมาณ 250,000 บาท โดยใช้เวลาในการตัดสินประมาณ 1 เดือนเศษ
แต่ หจก.เชียงใหม่ เค คอนสตรัคชั่น ก็เดินหน้าก่อสร้างเพื่อหวังให้โครงการแล้วเสร็จตามกำหนด กระทั่งได้ส่งงานงวดล่าสุดเป็นงวดที่ 1.3 วงเงิน 14 ล้านกว่าบาท แต่ศาลก็ให้เหตุผลอีกว่าเป็นการจ้างช่วงอีก และในการอนุมัติหรือตรวจรับงานในวันที่ 28 ต.ค. 2564 ก็แจ้งว่ายังไม่สามารถจ่ายเงินให้ได้เพราะมีการจ้างช่วง จนถึงปัจจุบันยังไม่มีคำตอบว่าจะจ่ายหรือไม่ หรือจะปรับหรือไม่ปรับ ขณะที่เหลือระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญาอีกเพียงประมาณ 5 เดือนเท่านั้น
นายณัฐดนัยกล่าวอีกว่าตนต้องการให้งานแล้วเสร็จและต้องการได้เงินที่ได้ลงทุนไปแล้วคืน แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่าศาลจะให้ทำอย่างไรต่อไป ส่วนเอกชนหลักที่ว่าจ้าง หจก.เชียงใหม่ เค คอนสตรัคชั่น กลับมีหนังสือแจ้งยกเลิกการจ้างอีก วันนี้ตนก็ไม่รู้ว่าเขาจะให้ หจก.เชียงใหม่ เค คอนสตรัคชั่น ทำต่อไปอีกหรือไม่
ล่าสุดตนได้เดินทางไปติดต่อทางศาลเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2565 เพื่อขอความอนุเคราะห์และความชัดเจน โดยได้แจ้งทางศาลว่าหากศาลมีคำสั่งใดๆ อีก และมีความชัดเจนขึ้น ตนสามารถก่อสร้างโครงการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ จ.เชียงราย ในพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 43 ไร่ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
ตอนนั้นเหลือระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญาอีก 7 เดือน จึงคำนวณว่าน่าจะถูกปรับเป็นเวลา 5 เดือน แต่เนื่องจากมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงอาจขอสงวนสิทธิ์ได้ 8 เดือน ซึ่งหมายความว่าตนอาจจะไม่ต้องถูกปรับ แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ และก็ยังไม่ได้รับเงินค่าก่อสร้างที่ลงทุนไปแล้ว ขณะที่ตนมีพนักงานที่ต้องเลี้ยงดูประมาณ 30 คน และแรงงานอีกกว่า 100 คน ซึ่งยังต้องทนทำงานอยู่โดยไม่ได้รับเงิน จนบางคนทนไม่ไหวและไปฟ้องร้องที่ศาลแรงงานแล้วส่วนคนที่ทำงานก็ไม่รู้ว่าจะเบิกเงินได้หรือไม่ด้วย
“จริงๆ ในส่วนของผมเป็นซับ ได้ประสานไปยังกิจการร่วมค้า ซึ่งจะทำหนังสือผ่านมาทางท่าน ผอ.การคลังของศาล และให้คำตอบกับผมว่าศาลยังไม่ได้รับอนุมัติการจ่ายเงิน ซึ่งจริงๆ แล้วจะตอบอย่างไรนั้นผมทราบ เพราะเอกสารต่างๆ นั้นผมเป็นคนทำให้แล้วเอาไปยื่นกับศาลทั้งหมด และเป็นคนออกเงินทั้งหมด
ส่วนบริษัทที่รับเหมาหลักมีพนักงานที่เข้าไปในไซต์งานแค่คนเดียว ตนเข้าใจว่าเขามีงานที่รับอยู่ 5,000-6,000 ล้านบาท และงานของศาลอีก 7-8 ที่ ล่าสุดเท่าที่รู้ เขาเพิ่งทำสัญญาเมื่อเดือนที่แล้วที่พะเยาอีก” นายณัฐดนัยกล่าว และว่า ส่วน หจก.เชียงใหม่ เค คอนสตรัคชั่น เพิ่งทำงานร่วมกับเอกชนที่เป็นคู่สัญญาหลักรายนี้เป็นครั้งแรกและถือเป็นรายเดียวที่รับช่วงงานก่อสร้างที่ จ.เชียงราย
นายณัฐดนัยกล่าวต่อว่า ตนเข้าร่วมประชุมกับทางศาลมาตั้งแต่แรกเริ่ม แต่ล่าสุดได้มีคำสั่งให้ปรับตนอีก 59 ล้านบาท เพราะผิดสัญญาจ้างคือการจ้างช่วง ซึ่งตนตอบไม่ได้ว่าศาลทราบอยู่แล้วหรือไม่ว่ามีการจ้างช่วง แต่โดยตำแหน่งของตนมาจากการเอกชนที่เป็นคู่สัญญาหลักในการก่อสร้างได้แต่งตั้งให้เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง โดยมีการส่งหนังสือขออนุมัติไปยังศาลแล้วด้วย
“ที่จริงแล้วการปรับเงินควรปรับเอกชนที่เป็นคู่สัญญาหลักในการก่อสร้าง ไม่ได้เกี่ยวกับผู้รับเหมาที่รับช่วงต่อหรือรายย่อย ซึ่งในสัญญาก็ระบุอยู่แล้วเรื่องคู่สัญญาหลัก ดังนั้นหากศาลไม่จ่ายเงินเอกชนที่เป็นคู่สัญญาหลักในการก่อสร้างก็ควรต้องจ่ายให้กับผม แต่กลับอ้างว่าศาลไม่จ่ายเงินให้ทำให้เอกชนที่เป็นคู่สัญญาหลักไม่มีเงินจ่ายให้ผม ขณะที่ผมลงทุนไปแล้วกว่า 100 ล้านบาท หลังจากทำงานมาได้ 2 ปีกว่า ก็ได้รับเงินมาเพียงประมาณ 2,010,000 บาท ผมจึงหวังว่าจะมีความชัดเจนและยืนยันว่าหากได้รับโอกาสจะสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีแน่”
รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 พร้อมที่พักอาศัยและสิ่งก่อสร้างประกอบที่ จ.เชียงราย มีสำนักงานศาลยุติธรรม ถนนรัชดาภิเษก แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ออกแบบและจัดซื้อจัดจ้าง และมีกิจการร่วมค้า เอสที-แมกซ์เอนส์-ไทยพารากอน-ทีดับบิว ตั้งอยู่เลขที่ 11/9 ถนนกาญจนาภิเษก แขวงคันนายาว เขตคันนายาว กรุงเทพฯ เป็นผู้รับจ้าง
ตามสัญญาจ้างเลขที่ 2/2563 ลงวันที่ 8 ต.ค. 2562 วงเงินก่อสร้าง 737,318,000 บาท วันเริ่มต้นสัญญาวันที่ 24 ต.ค. 2562 วันสิ้นสุดสัญญาวันที่ 7 ก.ย. 2565 นี้ รวมระยะเวลาก่อสร้าง 1,050 วัน บนเนื้อที่ประมาณ 42-3-00 ไร่ เดิมเคยอยู่ในความดูแลของศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย กรมวิชาการเกษตร ซึ่งพัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ ประมาณ 20 ไร่ และสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จ.เชียงราย กรมส่งเสริมการเกษตร อีกประมาณ 20 ไร่ ปัจจุบันโครงการยังไม่แล้วเสร็จ โดยมีเพียงโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้นอาคารภายในไม่คืบหน้าและมีโครงเหล็กไปทั่วบริเวณ
ที่มาข่าว : https://mgronline.com/local/detail/9650000032530