เชียงราย – รถไฟเด่นชัย-เชียงรายเลื่อนเปิดจากปี 66 เป็นปี 72 ไม่เกิน 7 ปีดันเชียงรายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ลุ่มน้ำโขงได้-GPP โตแน่ ล่าสุด รฟท.เร่งเดินหน้าเวนคืนที่ดิน ก่อนส่งมอบคู่สัญญาได้กรกฎาฯ 65 นี้ หอการค้าฯ ฝันเชื่อมผ่านมอเตอร์เวย์จีน-ลาว คู่ขนานอาร์สามเอ หนุนค้าชายแดน
นายอนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย เป็นประธานนำสมาชิกหอการค้าฯ เข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปี 65 ปลายสัปดาห์นี้ ได้มีการเชิญนายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรกำกับการกองควบคุมงาน วิศวกรรมโยธาและสถาปัตยกรรม 1 ศูนย์บริหารโครงการพิเศษ 1 ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รศ.ดร.สุพรชัย อุทัยนฤมล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และผู้เชี่ยวชาญด้านจราจรและขนส่งจากบริษัทเอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด และนายเอกสิทธิ์ ป.สัตยารักษ์ วิศวกรออกแบบ บริษัทเอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด ทำการบรรยายผ่านระบบออนไลน์เรื่อง “โอกาสและเศรษฐกิจกับรถไฟรางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ”
นายเอกสิทธิ์กล่าวว่า โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟรางคู่จาก อ.เด่นชัย จ.แพร่ ผ่าน จ.ลำปาง จ.พะเยา ปลายทางที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีระยะทางรวมประมาณ 323 กิโลเมตร มีสถานีขนาดใหญ่ 26 แห่ง รวมทั้งยังมีลานบรรทุกตู้สินค้าหรือ CY ที่แพร่ เนื้อที่ 13,000 ตารางเมตร พะเยาเนื้อที่ 12,400 ตารางเมตร อ.ป่าแดด จ.เชียงราย เนื้อที่ 5,000 ตารางเมตร และ อ.เชียงของ เนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ ซึ่งจะเชื่อมกับศูนย์กระจายสินค้าของกรมการขนส่งทางบกได้
นอกจากนี้ยังจะมีการเจาะอุโมงค์ใน อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย 3.4 กิโลเมตร อ.เมืองพะเยา 2.7 กิโลเมตร และ จ.แพร่ ช่วงที่ 1 ประมาณ 1.2 กิโลเมตร ช่วงที่ 2 ประมาณ 6.2 กิโลเมตร
ล่าสุดได้มีการปรับแผนจากเดิมจะเปิดใช้ในปี 2566 แต่มีเหตุจำเป็นจึงขยายไปเป็นปี 2572 ใช้งบประมาณรวม 85,345 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 72,921 ล้านบาท ค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 145 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 10,660 ล้านบาท ค่าจ้างควบคุมงาน 1,604 ล้านบาท และค่าจ้างจัดการประกวดราคา 15 ล้านบาท
สถานะปัจจุบันคือหลังมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่จะเวนคืนแล้วเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2564 รฟท.ได้สำรวจพื้นที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา และได้ประกวดราคาก่อสร้างจนได้ผู้รับจ้างคือบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ดูแลสัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103 กิโลเมตร, กลุ่มกิจการร่วมค้าซีเคเอสที-ดีซี 1 ดูแลสัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 135 กิโลเมตร และกลุ่มกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-ดีซี 2 ดูแลสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 87 กิโลเมตร
ทั้งนี้ รฟท.ได้เริ่มเวนคืนที่ดินไปแล้วประมาณ 50% และจะเริ่มส่งมอบที่ดินแปลงแรกให้เอกชนได้ในเดือน ก.ค. 2565 นี้ จากนั้นจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปีเพื่อเปิดใช้บริการในปี 2572 และเมื่อแล้วเสร็จประเมินว่าจะทำให้มีผู้โดยสารปีแรก 2,050,000 คน มีปริมาณสินค้า 1,570,999 ตัน และปี 2595 ผู้โดยสารก็จะเพิ่มเป็น 3,600,000 คน ปริมาณสินค้าเพิ่มเป็น 3,600,000 ตัน
รศ.ดร.สุพรชัย อุทัยนฤมล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และผู้เชี่ยวชาญด้านจราจรและขนส่งจากบริษัทเอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวว่า ในอนาคตรถไฟรางคู่ในประเทศไทยจะเพิ่มเป็น 3,157 กิโลเมตร เป็นทางคู่ระยะเร่งด่วน 7 เส้นทาง และทางคู่ระยะที่ 2 อีก 7 เส้นทาง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือสายเด่นชัย-เชียงราย นอกจากนี้ยังมีทางรถไฟสายใหม่อีกหลายเส้นทาง
สำหรับเส้นทางสายเด่นชัย-เชียงราย มีความเกี่ยวข้องกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 ซึ่งอยู่ในแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ เชื่อมไทย-สปป.ลาว-จีน และยังเชื่อมกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน อ.แม่สาย อ.เชียงแสน ส่วน อ.เชียงของ เป็นศูนย์ขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์
โครงการนี้จะช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัด (GPP) เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน โดยในปี 2580 คาดว่าจะมี GPP เพิ่มขึ้น 3.5% ผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 0.59% รายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3.30% และดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี รวมทั้งคาดว่าไม่เกิน 7 ปีจะสามารถเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่สามารถส่งออกสินค้าไปยังภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงโดยเฉพาะประเทศจีนได้สะดวกขึ้น เพราะต้นทุนขนส่งสินค้าทางรถไฟจะต่ำกว่าทางบกถึง 50% ซึ่งหมายถึงจะทำให้มูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ยังไม่รวมธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน
ด้านนายอนุรัตน์กล่าวว่า หัวใจหลักเศรษฐกิจชายแดนด้านเชียงราย คือการค้าชายแดนที่มีการส่งออกสินค้าไปยังมณฑลยูนนาน สป.จีน ซึ่งเดิมมีถนนอาร์สามเอจาก อ.เชียงของ-สปป.ลาว-จีน ระยะทางประมาณ 254 กิโลเมตร ใช้เวลาในการขนส่งทางบกประมาณ 5-6 ชั่วโมง แต่ปัจจุบันทราบว่าจีนและ สปป.ลาว กำลังสร้างมอเตอร์เวย์คู่ขนานกันมาทำให้ย่นระยะทางเหลือเพียง 90 กิโลเมตร และใช้เวลาเดินทางเพียง 1.30 ชั่วโมง ซึ่งเส้นทางนี้อยู่ใน สปป.ลาว คาดว่าจะสามารถเชื่อมกับการขนส่งสินค้าด้วยเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงรายได้เป็นอย่างดีต่อไป
ที่มา : https://mgronline.com/local/detail/9650000034333